Support
travelchoicetv.com
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

อ่าวประจวบ - อ่าวมะนาว

info@twoplusone.asia | 18-04-2557 | เปิดดู 1966 | ความคิดเห็น 0

 

 

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าอ่าวที่สวยงามที่นี่จะผ่านสรมรภูมิรบมาแล้ว แต่อันดับแรกมากับ  Travel Choice  ก็ต้องตามหาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของที่นี่กันก่อนล่ะค่ะ เมย์มีข้อมูลมาเพียบ  แล้วก็เลือกที่จะเริ่มต้นที่นี่ค่ะ  ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี่ มีชายหาดยาวตลอดทั้งจังหวัดเลยล่ะค่ะ ตั้งแต่อำเภอหัวหิน จนถึงอำเภอบางสะพานน้อย แล้วก็ในอำเภอเมือง ลักษณะเด่นของที่นี่คือ ชายหาดที่ยาวมากเลยล่ะค่ะ  อ่าวที่ถือเป็น Land mark ของประจวบมีสามอ่าวคือ อ่าวน้อย อ่าวประจวบ และอ่าวมะนาว ก็เลยกลายเป็นที่มาของการเรียกว่าเมือง  3 อ่าว

 

โดยเฉพาะอ่าวประจวบที่มีความยาวถึง 8 กิโลเมตร และด้วยความยาวของอ่าวประจวบนี้เองทำให้พบเห็นความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่หลากหลายของชุมชนในพื้นที่  ที่ประจวบแห่งนี้นะค่ะ ยังมีชุมชนเกาะหลัก เป็นชุมชนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในอดีตเป็นศูนย์กลางการปกครองเมืองประจวบคีรีขันธ์  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ค่ะ
 

สถานีวัดระดับน้ำเกาะหลักถือเป็นสถานีวัดระดับน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทยเลยล่ะค่ะ    เพราะนอกจากจะนำข้อมูลมาใช้คำนวณหาระดับทะเลปานกลาง เพื่อเป็นพื้นเกณฑ์ระดับของประเทศแล้วยังเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นงานระดับน้ำของไทย มาตั้งแต่ ปี 2453...  นับถึงตอนนี้ก็...ร้อยกว่าปีแล้วค่ะ  สถานีวัดระดับน้ำเกาะหลักเป็นสถานีวัดระดับน้ำที่มีข้อมูลต่อเนื่องยาวนานที่สุด   จึงเหมาะสำหรับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ ทะเลในระยะยาวต่อไป  
 

 

 

เราขยับจากอ่าวประจวบมาอยู่ที่อ่าวมะนาวในเขตกองบิน 5 กองทัพอากาศค่ะ   ตรงข้ามกับหาด  เป็นเขาล้อมหมวก ช่วงที่น้ำลดจะเห็นสันทรายทอดยาว สามารถเดินลงไปถึงเขาล้อมหมวกได้เลย  ที่ที่เคยเป็นยุทธภูมิรบที่สำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพญี่ปุ่นค่ะ
 

 

 

 

ภายในกองบิน 5 มี พิพิธภัณฑ์อุทยานประวัติศาสตร์ บน.5 ประกอบด้วยอาคาร 3 หลังค่ะ โดยเริ่มจากอาคารแรก  อาคารพิพิธภัณฑ์ หลังที่ 1 อาคารพิพิธนิทัศน์ เป็นการจำลองพื้นที่อาณาเขตภายใน บน.๕ ทิศเหนือจรดอ่าวประจวบทิศใต้จรดอ่าวมะนาว ทิศตะวันออกจรดเขาล้อมหมวก และทิศตะวันตก จรดเส้นทางรถไฟ รวมถึงหน้าต่างมหัศจรรย์..การแสดง แสง สี เสียงจำลองเหตุการณ์การสู้รบ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484  แสดงอากาศยานต่าง ๆ และวิวัฒนาการของกองบิน 5

 

  

 

เมย์มีโอกาสได้พบกับน้องคิงส์ มัคคุเทศน์น้อย ที่จะมาให้ข้อมูลคร่าวๆ ของกองบิน 5 กับเราค่ะ  น้องคิงส์บอกว่าจุดแรกที่เราเห็นก็คือจุดลงนามสงบศึกค่ะ  เป็นเหล็กเส้น อยู่ใต้ต้นข่อย หลังจากยุติสงครามทหารอากาศไทยกับทหารญี่ปุ่น ได้ยืนหันหน้าเข้าหากันและจับมือแลกดาบกัน ส่วนด้านหน้าก็คือแท่นหินแกะสลักเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 

 

 

ด้านข้างของกองบินคือ เขาล้อมหมวกค่ะ จะมีศาลเจ้าพ่อเขาล้อมหมวก และค่างแว่นมากมายใครมีโอกาสไปกองบิน 5 ก็อย่าลืมให้อาหารน้องค่างแว่นกันนะค่ะ ส่วนซ้ายมือของเมย์ คือสุสานจำลองค่ะ ส่วนสุสานจริงจะมีรั้วล้อมรอบและมีศาลตั้งอยู่ตรงกลาง สมัยก่อนได้ขุดสุสานเป็น 2 หลุม หลุมละ 21 จากจำนวนผู้เสียชีวิต 42 คน ต่อมาได้นำไปประกอบพิธีทางศาสนาและนำอัฐิมาไว้ที่อนุสาวรีย์วีรชน รูปปั้นนักบินถือธงชัยเฉลิมพล เหยียบอยู่บนใบพัดเครื่องบิน 

 

 

มองออกไปก็เป็นทะเลซึ่งจะมีเกาะต่างๆ ตั้งอยู่ 3 เกาะ  น้องคิงส์บอกว่าช่วงน้ำลดทั้ง 3 เกาะ สามารถเดินหากันได้  ไหนๆ ก็มาถึงกองบิน 5 แล้ว ก็ต้องไปลองชมเกาะทั้ง 3 ซะหน่อยค่ะว่าจะสวยขนาดไหน   ว่าแล้วก็ลุยกันเลยดีกว่าค่ะ  เริ่มจากเกาะแรกค่ะ เกาะสูงๆ แหลมๆ เรียกว่าเกาะหลักค่ะ จะมีเครื่องวัดระดับน้ำทะเลปานกลางประเทศไทยตั้งอยู่  เกาะต่อมาค่ะชื่อว่าเกาะไหหลำ ที่เกาะไหหลำจะมีศาลกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ตั้งอยู่หลังคาสีแดง ถัดมาคือเกาะร่มค่ะ จะมีหมู่เกาะชื่อว่าเกาะแรด ที่เกาะแรดจะเป็นเขตควบคุมของทหารเรือ ระหว่างทางที่เดินไปทั้ง 3 เกาะ เราก็จะเห็นสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ขึ้นมาแหวกว่ายหาอาหารกัน  เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่าทะเลแหวกค่ะ สวยงามจริงๆ ค่ะ ใครได้มาเยือนกองบิน 5 อย่าลืมมาเดินชมทะเลแหวกกันนะค่ะ

 

 

กองบิน 5 อาจจะต่างไปจากเขตทหารที่อื่น คือที่นี่ไม่ใช่สนามฝึกซ้อมรบ แต่ที่นี่คือสมรภูมิที่เคยผ่านการรบจริงๆ มาแล้วค่ะ   เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้น ประเทศไทยคือ หนึ่งในที่หมายของการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น เพื่อไปโจมตีทหารอังกฤษในพม่าและมลายู  กองบิน 5  หรือชื่อในอดีตคือ กองบินน้อยที่ 5 ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทหารญี่ปุ่นได้มาแอบซุ่มยกพลขึ้นบกและเข้ายึดพื้นที่ ทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง โดยที่กำลังพลของกองบิน 5 มีประมาณ 120 คน ส่วนกำลังพลทหารญี่ปุ่นมีประมาณ 3,000คน ภายหลังการสู้รบ ฝ่ายทหารญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังมากกว่า เสียชีวิต 417 คน   ในขณะที่ฝ่ายไทยเสียชีวิต 42 คน ซึ่งเป็นทหารอากาศ 38 คน ตำรวจ 1 คน ยุวชนทหาร 1 คน และครอบครัวทหาร 2 คน    เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติอันกล้าหาญของนักรบแห่งกองบินน้อยที่ 5 และวีรชนชาวประจวบฯ ทางราชการจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ "วีรชน 8 ธ.ค.2484" ที่บริเวณกองบิน 5  และมีการจัดงานรำลึกวีรกรรมของผู้กล้าทุกวันที่ 8 ธ.ค.ของทุกปี

 

ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ หลังที่ 2  มีชื่อว่าอาคารประวัติสงคราม

โดยห้องแรกเป็นห้องของการอุบัติการณ์และศึกใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในส่วนนี้นะค่ะ  จะเล่าเรื่องของการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2  ซึ่งสาเหตุเกิดจากความขัดแย้งในยุโรป จนเกิดเป็นสงครามโดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายอักษะมีเยอรมันและอิตาลีร่วมมือกันและฝ่ายสัมพันธมิตรมีอังกฤษและฝรั่งเศสร่วมมือกัน การสงครามเกิดขึ้ยหลายพื้นที่ทั่วยุโรปและประเทศอาณานิคม 
 

 

ในขณะที่ยุโรปกำลังขาดความสงบนั้น ในเอเชียเองญี่ปุ่นก็เริ่มกระจายกำลังออกสู่พื้นที่ต่างๆ เกือบทุกประเทศในเอเชียทั้งจีน เกาหลี อินโดนีเซีย ไทย ลาว เวียดนาม สิงค์โปร์ มาเลเซียและพยายามที่จะเข้าสู่พม่าให้ได้ จึงเกิดสงครามในซีกโลกตะวันออกบ้างเรียกว่า สงครามมหาเอเชียบูรพาค่ะส่วนห้องถัดมาคือห้องชีวิตทหารไทยในไฟสงคราม

 

อาคารหลังนี้นะค่ะในอดีตเคยเป็นเรือนพักของนายทหารชั้นสัญญาบัตรค่ะ ในช่วงที่เกิดสงคราม ชีวิตทหารไทยที่ประจำการอยู่ที่อ่าวมะนาวนั้นก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่อย่างเข้มแข็ง แม้ว่าจะยังไม่มีการสู้รบใดๆ แต่ก็พยายามฟังข่าวตลอดเวลา ความเป็นอยู่ของทหารไทยก็สื่อออกมาเป็นภาพจำลองของการอยู่การกินของครอบครัวทหาร   รวมไปถึงห้องที่เก็บอาวุธยุทโธปกรณ์   

 

          
 

ต่อกันด้วยห้องถัดไปค่ะ คือห้องการเจรจาขอผ่านแดน ห้องนี้นะค่ะได้น้องควีน มัคคุเทศน์น้อยพาเดินชมและให้ข้อมูลกันค่ะ  ห้องการเจรจาขอผ่านแดนเป็นการเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ในขณะที่กรุงเทพมหานครกำลังมีงานรื่นเริงเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญอยู่ มีทั้งเครื่องไฟสวยงามและการประกวดสาวงาม นางสาวสยาม ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศทหารญี่ปุ่นที่แฝงตัวมาอยู่ในคราบของช่างถ่ายภาพ หมอฟัน มาขายของฯลฯ ก็กลายสภาพเป็นนายทหารสายลับที่เข้ามาสืบข่าวพากองทัพทหารญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกในบริเวณอ่าวไทยถึง 7 จุด ตั้งแต่ชายฝั่งประจวบ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ในช่วงเวลาที่คนไทยกำลังหลับไหล การต่อสู้ต่อต้านของทหารไทยต่อทหารญี่ปุ่นเกิดขึ้นในทันทีที่รู้ตัว

 

 

จนช่วงเวลา 13.00 น. ของวันที่ 9 ธันวาคม 2484 จึงได้มีการหยุดยิงเพราะมีคำสั่งมาจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้หยุดการต่อสู้ หลังจากนั้นก็มีการเจรจากับแม่ทัพนายทหารญี่ปุ่น ในห้องนี้จะจัดภาพไว้สองข้างทางเดินเป็นการเปรียบเทียบให้เห็น 2 เหตุการณ์ 2 สถานที่ ในวันเวลาเดียวกัน 
 

 

ต่อด้วยในส่วนของห้องเกียรติภูมิผู้กล้า เป็นห้องที่มีการบรรยายพร้อมจำลองเหตุการณ์จริงว่า ในเช้าของวันที่ 8 ธันวาคม2484 นั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างค่ะ โดยจำลองร่องรอยของกระสุนที่ถูกยิงสวนมาจากท้องทะเลโดยทหารญี่ปุ่น  ระหว่างการต่อสู้ก่อนมีการเจรจาหยุดยิงและเสนอภาพของความสูญเสียให้เห็นว่าสงครามทำให้เกิดความเสียหายและความเจ็บปวดแก่ประชาชนทุกชนชาติไม่ว่าที่ไหนก็ตามส่วนสุดท้ายของการจัดแสดงในอาคารนี้ คือห้อง สู่สันติภาพ ค่ะ

 

 

ความสูญเสียนำมาซึ่งความสงบสุข สันติภาพ ที่แลกมาด้วยชีวิติ คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง และสงครามอันโหดร้าย จากนี้ไปขอให้สันติได้บังเกิดขึ้นสร้างความรักและความกลมเกลียวในหัวใจทุกดวง เพื่อไม่ให้คราบน้ำตาปรากฎณ์บนใบหน้าของผู้ที่อยู่เบื้องหลังอีกต่อไป เรามาร่วมสดุดีให้กับวีรชนผู้กล้าของของเรากันค่ะ

 

 

อ่าวมะนาวทุกวันนี้ยังคงเป็นที่ตั้งของกองบินกองทัพอากาศโดยเปลี่ยนชื่อเป็นกองบินที่ 5  สถานที่สำคัญครั้งประวัติศาสตร์  ที่เกิดขึ้นเมื่อตอนเช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม 2484  ทุกแห่งยังคงอยู่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาล้อมหมวกแห่งนี้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่นายทหารทุกนายได้ตัดสินใจเตรียมกระสุนนัดสุดท้ายไว้สำหรับตนเอง

 


แต่กระสุนนัดสุดท้ายนั้น ก็ไม่ได้ถูกใช้งาน  เพราะได้รับคำสั่งหยุดยิงจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นว่า รัฐบาลไทยได้ยินยอมให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยแล้ว การรบจึงยุติลง ก่อนที่จะต้องมีการสูญเสียไปมากกว่านี้ สงครามมหาเอเชียบูรพาที่อ่าวมะนาว จบลง ณ ที่แห่งนี้  เพียงแค่เราเลือกที่จะลืมหรือเลือกที่จะจำค่ะ  

 

ความคิดเห็น

วันที่: Sat May 18 17:43:18 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0