Support
travelchoicetv.com
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

ระนอง - บ้านหงาว

info@twoplusone.asia | 09-05-2557 | เปิดดู 2084 | ความคิดเห็น 0

  

 

ขอต้อนรับสู่ระนอง

 

 

ที่ที่เห็นอยู่ตรงนี้ คือสุสาน หรือที่ฝังศพของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หรือท่าน คอ ซู้เจียง อดีตเจ้าเมืองระนอง  ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในท้องถิ่น เป็นแบบอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งๆ ที่อพยพมาจากประเทศจีน เข้ามาเป็นกรรมกรรับจ้าง จนได้ตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง และเป็น เจ้าเมืองระนองคนแรก ที่มีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาเมืองระนองให้เจริญก้าวหน้า  จนกลายเป็นเมืองชั้นเอกของประเทศเลยล่ะค่ะ

 

 

(ภาพสุสานเจ้าเมืองระนองในอดีต)

 

 

 

สาเหตุที่กลายเป็นเมืองชั้นเอกในสมัยนั้น ก็เพราะสามารถเรียกเก็บภาษีอากร จากการทำกิจการเหมืองแร่ดีบุกได้เป็นอันดับหนึ่งค่ะ  เพราะในช่วงเวลา ที่เมืองระนองมีการเก็บภาษีแบบเหมาเมือง ได้สร้างความเจริญให้ทั้งตัวเมืองระนอง และตระกูล ณ ระนอง ไปพร้อมๆกัน  พร้อมทั้งเงินภาษีผลประโยชน์ที่ส่งให้แก่รัฐบาลก็เพิ่มพูนขึ้นด้วยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หรือคอ ซู้เจียง ปกครองเมืองระนองแบบเหมาเมือง ซึ่งก็หมายถึงการอนุญาตให้เจ้าเมืองเก็บภาษีการทเหมืองแบบผูกขาด โดยท่านปกครองเมืองเป็นเวลาถึง 28 ปี

 

 (เมืองระนองในอดีต)

 

 

(พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หรือคอ ซู้เจียง)

  

 

 

 

 

สุสานแห่งนี้เป็นสุสานแบบจีนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 อยู่บริเวณเชิงเขา หันหน้าไปทางทิศใต้ หน้าสุสานเป็นบริเวณลานกว้างทำด้วยศิลาจากเมืองจีนค่ะ ก่อเขื่อนศิลา ปูศิลาขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนถึงสุสานฝังศพ ด้านหนึ่งมีเสาธงศิลาคู่หนึ่ง แพะคู่หนึ่ง เสือคู่หนึ่ง ม้าคู่หนึ่ง ขุนนางฝ่ายบู๊ ฝ่ายบุ๋นอย่างละคู่

 

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายูในพุทธศักราช 2433  ได้ทรงประทับแรม ที่พลับพลาซึ่งพระยารัตนเศรษฐี  ได้จัดสร้างเป็นที่ประทับไว้บนเนินเขาใจกลางเมือง และทูลขอพระราชทานชื่อ เพื่อจะรักษาไว้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา พระองค์จึงทรงตั้งชื่อพลับพลานี้ว่า “พระที่นั่งรัตนรังสรรค์”
 

 

(พระยารัตนเศรษฐี" (คอมซิมก๊อง))

 

ตามประวัติ "พระราชวังรัตนรังสรรค์" ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2433 โดย "พระยารัตนเศรษฐี" (คอมซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองในขณะนั้น เนื่องด้วยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกเป็นครั้งแรกที่จะได้เสด็จไปถึงเมืองระนองในวันที่ 23-25 เมษายน 2433 พระยารัตนเศรษฐีจึงได้สร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จที่บนเนินควนอัน ตรงกลางเมือง  แต่นานๆครั้งจะเสด็จประพาสเมืองระนองครั้งหนึ่ง จะทิ้งวังไว้เปล่าๆก็จะชำรุดทรุดโทรม รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาติว่า ให้ใช้พระราชวังเป็นศาลารัฐบาลและเป็นที่ทำพิธีสำหรับบ้านเมืองถ้าหากมีการเสด็จประพาสเมื่อใด ก็จะให้จัดเป็นที่ประทับต่อมาองค์พระที่นั่งได้ชำรุดทรุดโทรมลง

 

 

   

(พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่))

ในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่) เจ้าเมืองระนองในขณะนั้น จึงได้ร่วมกับสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตปรับปรุงและดัดแปลงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ใหม่ โดยสร้างเป็นรูปเรือนตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2444 แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางเมืองระนองเรื่อยมาซึ่งนอกจากรัชกาลที่ 5 แล้ว พระมหากษัตริย์อีก 2 พระองค์คือรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ก็ได้ใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับแรมเมื่อครั้งเสด็จประพาสเยี่ยมหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกเช่นกันค่ะ

 

 

 

 

จนกระทั่งปี 2507  องค์พระที่นั่ง ได้ถูกรื้อถอนออก เพื่อสร้างเป็นศาลากลางจังหวัดหลังปัจจุบัน พระที่นั่งรัตนรังสรรค์จึงสูญหายไปจากจังหวัดระนองตั้งแต่นั้น   แต่ก็ยังคงมีร่องรอยเป็นบันไดและบริเวณให้เห็น โดยทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2520
 

 

 

สำหรับพระที่นั่งรัตนรังสรรค์องค์นี้ค่ะ  เป็นพระที่นั่งจำลองที่สร้างขึ้นในปี.2545 อยู่บนเนินเขานิเวศน์คีรี ใกล้เคียงกับบริเวณเดิมค่ะตัวอาคารสร้างด้วยไม้ตะเคียนทองโครงสร้างคอนกรีตสูงสามชั้น ชั้นล่างโล่ง ชั้นที่สองเป็นรูปเหลี่ยมแปดด้าน ปัจจุบันประดิษฐานโต๊ะทรงพระอักษรพร้อมพระเก้าอี้ทำด้วยหนังแท้ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระที่นั่งวิมานเมฆพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

 

และพระเก้าอี้ทรงพักผ่อนแกะสลักลวดลายเป็นรูปดอกกุหลาบ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยทรงใช้เป็นที่ประทับและบรรทม ส่วนหลังคาชั้นที่สามทรงปั้นหยา มีดั้งประดับไม้ลวดลายฉลุอย่างสวยงาม
 

 

ส่วนบริเวณชั้นสองมีระเบียงไม้ประดับกันตก สามารถเดินชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ พื้นเฉลียงปูกระเบื้องดินเผา มีหลังคาคลุม ช่องประตูเป็นรูปโค้งทั้งแปดด้าน จากชั้นสองถึงชั้นสาม มีบันไดเวียนภายในขึ้นไปบนชั้นสามซึ่งมีหน้าต่างสามารถชมทัศนียภาพบริเวณหน้าพระที่นั่ง ตัวเมืองระนองด้านทิศตะวันตก ชายแดนประเทศไทยและสหภาพพม่า

 

 

นอกจากนี้ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินบริเวณทะเลอันดามันได้อย่างสวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองระนองด้วยค่ะนอกจากนี้ก็ยังมีหอแปดเหลี่ยมที่มีความสูงประมาณ 17 เมตร คล้ายคลึงกับ หอวิฑูรทัศนา ที่พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสาน คือหลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยประดับเชิงชายไม้ฉลุซ้อนกันอย่างพม่า


นอกจากนี้ พระยารัตนเศรษฐี คอซิมก๊อง ยังได้ทูลขอชื่อพระราชทาน ในส่วนอื่นๆอีกหลายชื่อด้วยค่ะ  นอกจากชื่อพระที่นั่งรัตนรังสรรค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อภูเขา และถนนเส้นต่างๆในเมืองระนองไว้ดังนี้
 

 

นิเวศน์คีรี คือเขาที่เป็นที่ตั้งพลับพลาหรือพระที่นั่งรัตนตังสรรค์ (เดิมพระราชทานชื่อ เป็น “นิเวศคีรี” ภายหลังเขียนเป็น “นิเวศน์คีรี”)
ถนนท่าเรือ คือถนนตั้งแต่ท่าขึ้นมาจนสุดตลาดเก่า ยาวราว 80 เส้นเศษ
ถนนเรืองราษฎร์ คือถนนทำใหม่ตั้งแต่ 3 แยกตลาดเก่าไปตามหน้าบ้านใหม่พระยาระนองถึงสะพานยูง
ถนนชาติเฉลิม คือถนนตั้งแต่สะพานยูงออกไปจนถึงฮวงซุ้ยพระยาดำรงสุจริตฯ (คอซู้เจียง)
ถนนเพิ่มผล คือถนนบ่อน้ำร้อนถึงเหมืองในเมือง
ถนนชลระอุ คือถนนทางไปบ่อน้ำร้อนยาวประมาณ 70 เส้น
ถนนลุวัง คือหน้าวัง
ถนนกำลังทรัพย์ คือถนนโอบรอบๆ ตลาดนัดต่อกับถนนลุวังกับถนนเรืองราษฎร์
ถนนดับคดี คือถนนตั้งแต่ถนนเรืองราษฎร์มาถึงถนนชลระอุ ผ่านหน้าศาลชำระความ
ถนนทวีสินค้า คือถนนที่แยกจากถนนเรืองราษฎร์ลงไปทางริมคลอง
ถนนผาดาษ คือถนนซึ่งพระยาระนอง (คอซิมก๊อง) คิดจะทำออกไปถึงตำบลหินดาดซึ่งเป็นทางโทรเลข และขอพระราชทานชื่อล่วงหน้าไว้

 

 

ที่นี่ภูเขาหญ้าสองสี ค่ะ เป็นภูเขาที่ไม่มีไม้ใหญ่ขึ้น ฤดูฝนจะมีหญ้าสีเขียวขึ้นปกคลุมแนวเขาที่ทอดตัวจากทิศเหนือ สู่ทิศใต้ หญ้าที่ขึ้น ต่างสีต่างวันเวลา และเนินเขางดงาม แต่ก็อย่างที่เห้นค่ะ ช่วงนี้เป้นช่วงน่าแล้ง ทำให้สภาพภูเขาเป็นแบบนี้ล่ะค่ะ

 

การเดินทางในครั้งนี้ทำให้เราได้ค้นคว้าหาคำตอบจากความสงสัยที่ว่า ส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทยอยู่ที่ไหนกันแน่ ระหว่าง ต.คลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์  หรือ ที่คอคอดกระ  จ.ระนอง ซึ่งก็ไม่ใช่ทั้งคู่ค่ะ เพราะส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทย จริงๆ แล้วอยู่ที่ ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ค่ะ

 

แล้วยังทำให้เรารู้จักและซาบซึ้งถึงวีรกรรมความเสียสละของตำรวจ ชาวบ้าน และเด็กนักเรียนชาวชุมพร ที่ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาอธิปไตยของประเทศอย่างกล้าหาญ

 

และที่สำคัญที่สุด การเดนิทางครั้งนี้ บนเส้นทางประจวบ – ชุมพร – ระนอง คือเส้นทางอีกสายหนึ่งที่เต็มไปด้วยความงดงามของธรรมชาติ  วิถีชีวิตผู้คน  รวมทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ชวนให้เดินทางมาค้นหาได้ทุกเมื่อ

 

สำหรับการเดินทางในครั้งหน้า Travel Choice  จะเลือกเส้นทางไหนนั้น อย่าลืมติดตามชมและร่วมเดินทางไปกับ Travel Choice  อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการเดินทาง ที่จะเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณ

 

 

ความคิดเห็น

วันที่: Sat May 18 16:38:02 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0