Support
travelchoicetv.com
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

อ่างทอง – ป่าโมก – โพธิ์ทอง

info@twoplusone.asia | 06-12-2556 | เปิดดู 2982 | ความคิดเห็น 0

อ่างทอง – ป่าโมก – โพธิ์ทอง

 

....ไม่ต้องตกใจนะคะ  นี่ยังคงเป็นรายการ TRAVEL CHOICE เหมือนเดิมค่ะ แต่ทริปนี้จะเปลี่ยนคนพาเที่ยวจาก น้องเมย์ มาเป็น พี่มดแทน  ก็น่ารักพอๆกันแหละค่ะ แต่ก่อนอื่นมดต้องขอ update ที่มาที่ไปกันซะหน่อย ทริปที่ผ่านมา TRAVEL CHOICE ได้พาไปสัมผัสเส้นทางปริมณฑลกรุงเทพฯจนครบทุกจังหวัดเรียบร้อย  และเราก็ปิดทริปนั้นที่จังหวัดนครปฐม  ยังจำกันได้ใช่มั๊ยคะ

 

 

ส่วนในทริปนี้ มดก็ต้องขอบอกค่ะว่าเราจะยัง คงไปไม่ไกลจากกรุงเทพฯ  เลยไปจากเส้นทางครั้งก่อนอีกนิดนึงค่ะ  เราจะไปตามหาอารยธรรมทวารวดีบนที่ราบลุ่มภาคกลาง บนทาง หลวงหมายเลข 309 อ่างทอง - สิงห์บุรี ซึ่งเส้นทางนี้เป็นอีกเส้น ทางนึงที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่ชอบตระเวนไหว้พระคงจะถูกใจกับเส้นทางนี้อย่างแน่นอนค่ะ และทริปนี้ เราก็ได้ไปชมพระนอนกันถึง 3 วัดเลยทีเดียว

...แต่ก่อนจะไปชมวัด  เที่ยวอย่าง TRAVEL CHOICE  ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการย้อนรอยอารยธรรมความเป็นเมืองกันก่อนเช่นเคย  ไปดูกันค่ะว่า อ่างทองนั้นมีความเป็นเมืองมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

 

 

 

เชื่อกันว่าในอดีตนั้น อ่างทองเป็นเมืองที่มีผู้คนอยู่อาศัยมานานนับพันปีมาแล้ว  แต่ที่พบเห็นเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีหลงเหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบัน ก็คือหลักฐานบ้าน เมืองเก่าสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษ ที่ 13-15 ที่เมืองโบราณบ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ซึ่งปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของคนเป็นจำนวนมาก นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เข้ามาสำรวจสถานที่นี้แล้ว ได้ข้อสรุปว่า ดินแดนแห่งนี้ เคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี  เพราะพบร่องรอยของคูเมืองที่มีลักษณะเป็นคูน้ำใหญ่โอบล้อมรอบเมือง และมีเศษภาชนะดินเผา โบราณวัตถุ รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่มีลักษณะเหมือนกับแหล่งโบราณคดีสมัยทวาราวดีที่พบในภาคกลางแห่งอื่นๆ

 

 

ต่อมาได้มีการอพยพย้ายเมืองออกไปจากบ้านคูเมืองแห่งนี้ สันนิษฐานว่าอาจมีสาเหตุจากโรคระบาด สงคราม หรือ ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ เช่น แม่น้ำเปลี่ยนทางเดินไป  จนกระทั่ง ในยุคสมัยสุโขทัยก็เข้าใจว่ามีคนอาศัยอยู่  ในบริเวณนี้มากเช่นกัน หลักฐานที่น่าจะยืนยันได้ก็คือวัดร้างที่มีอยู่มากมายในท้องที่ของอ่างทองค่ะ มีหลายวัดที่แสดงว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากได้ รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากสุโขทัย  สังเกตได้จากลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญจะมีลักษณะเป็นแบบสุโขทัยหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล(ขุน อิน ทะ ประ มูน) ที่อำเภอโพธิ์ทอง   และพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก ซึ่งเราจะได้ไปชมกันทั้งสองวัดเลยล่ะค่ะ

 

  

มดได้มาถึงที่วัดป่าโมกวรวิหาร เป็นที่แรกค่ะ  เพราะทริปนี้เราจะใช้ทางหลวงสาย 309 เป็นหลัก ถนนสายนี้เป็นทางสายรองที่ขนานอยู่กับถนนสายเอเชีย รถไม่เยอะดีค่ะ

 

 

 

วัดป่าโมกวรวิหาร ถือเป็นวัดโบราณไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ในพงศาวดารเมืองเหนือ กล่าวไว้ว่า สร้างในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี  ภายในวัด มีพระพุทธไสยาสน์ศิลปะสุโขทัยเก่าแก่องค์หนึ่ง ประดิษฐานคู่กันมากับวัด  มีขนาดใหญ่โตและงดงามมาก ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างเช่นกัน  องค์พระพุทธไสยาสน์ ก่อด้วยอิฐปูนปั้น  ลงรักปิดทองทั้งองค์ นอนตะแคงขวาแบบสีหไสยา (สี หะ ไส ยา) มีความยาวจากพระเมาลี ถึงพระบาท 22 เมตร 58 เซนติเมตร  พระเศียรหนุนพระเขนย รูปทรงกระบอก 3 ใบ ลดหลั่นกันจากใหญ่ขึ้นไปหาเล็ก   แล้วคลุมด้วยผ้าทิพย์ที่มีลวดลายวิจิตรงดงามมากเลยล่ะค่ะ

 

ส่วนวิหารพระพุทธไสยาสน์หลังนี้  สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ สมัยกรุงศรีอยุธยาค่ะ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องบนเป็นไม้ มีรูปทรงเป็นวิหาร ส่วนฐานอ่อนโค้งเป็นรูปสำเภา ไม่สูงมากนัก หลังคาทำเป็นสองชั้นซ้อน สามชั้นลด ประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ หน้าบันทั้งสองด้าน เป็นเครื่องไม้ วิหารหลังนี้มีความสวยงามมากเช่นกันค่ะ

 

พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ ถือเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญ และมีความศักดิ์สิทธิ์มาช้านาน จนกลายเป็นความเชื่อถือศรัทธาที่สืบทอดกันมาทุกยุคทุกสมัย  ยกตัวอย่างที่ปรากฎเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ตำนานเรื่องพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกพูดได้     ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์อหิวาตกโรคระบาดในบ้านป่าโมก เป็นเรื่องที่พระครูปาโมกข์มุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมกในสมัยนั้น ได้เขียนเอาไว้ค่ะ...

 

ตำนานเรื่องพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนพูดได้   ตามลิขิตของพระครูปาโมกข์มุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมก พอสรุปได้ว่า เมื่อพุทธศักราช 2448  พระภิกษุในวัดป่าโมกองค์หนึ่ง ชื่อพระโต ป่วยหนักด้วยโรคอหิวาต์ หมอที่ไหนก็รักษาไม่หาย ขณะนั้นอุบาสิกาเหลียน หลานสาวของพระโต ก็จนปัญญาจะไปหาหมอยามารักษาพระโตได้ จึงมาตั้งสัตยาธิษฐานต่อหน้าองค์พระพุทธไสยาสน์  ทันใดนั้นก็ปรากฎมีเสียงออกมาจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์ บอกตำรายาแก่สีกาเหลียน เธอจึงนำพืชสมุนไพรต่างๆ ตามสูตรยาที่ได้ยิน  นำมาต้มให้พระโตที่อาพาธฉัน พระโตก็หายเป็นปกติ
จากนั้นสีกาเหลียนจึงนำเอาเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว มาแจ้งต่อพระครูปาโมกข์มุนีและพระที่วัดป่าโมก แต่ท่านยังไม่เชื่อ จึงได้ให้พระสงฆ์ โยมวัด และลูกศิษย์วัด รวมทั้งสีกาเหลียนพากันเข้ามาในวิหารพระพุทธไสยาสน์  สีกาเหลียนจุดธูปเทียน และถวายหมากพลูแก่พระพุทธไสยาสน์  เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ หมากพลูที่ถวายหายไปในเวลา 2 นาที นอกจากนี้ พระครูปาโมกข์มุนี ก็ยัง ได้ไต่ถามพระพุทธไสยาสน์เกี่ยวกับสารทุกข์สุกดิบและเครื่องยาที่รักษาผู้ป่วยโรคอหิวาต์ พระพุทธไสยาสน์ก็ตอบคำถามที่   พระครูปาโมกข์มุนีถามทุกประการ

 

ปัจจุบัน ตำนานเรื่องพระนอนพูดได้ที่วัดป่าโมก ยังคงได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมา และยังเคยเป็นต้นเค้าในนวนิยายเรื่อง   "ไผ่แดง" ผลงานของพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายก- รัฐมนตรี และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในเนื้อเรื่องตอนที่พระประธานในวัดพูดกับสมภารกร่างเจ้าอาวาสวัดนั่นเองค่ะ

 

หลังจากที่มดได้ไปสักการะพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร และชมสถาปัตยกรรมความงดงามภายในวัดเรียบร้อยแล้ว มดก็เดินทางต่อไปยังอำเภอโพธิ์ทอง เพื่อไปที่วัดอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ศิลปะสมัยสุโขทัยเช่นเดียวกัน   นั่นก็คือ วัดขุนอินทประมูลค่ะ ที่วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้วล่ะค่ะ

 

วัดขุนอินทประมูล เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยสุโขทัย เมื่อดูจากซากอิฐแนวเขตเดิม ประมาณได้ว่า เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ประดิษ- ฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีขนาดใหญ่และมีความยาวถึง 25 วา หรือ 50 เมตร  องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน เพราะมีพุทธลักษณะที่งดงาม  พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็น  เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้หักพังหมดเหลือแต่เสา จึงมองดูคล้ายประดิษฐานบนโคกดิน ชาวบ้านจึงเรียกว่า โคกพระนอน และองค์พระก็ต้องตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งอย่างนั้นมานานนับเป็นร้อยๆ ปี จนถึงสมัยพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอุธยา จึงได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ และมีการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5

  

 

นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดขุนอินทประมูลยังมีซากวิหารที่เหลือแต่ผนังก่ออิฐและเจดีย์เล็ก ๆ 2 องค์  สันนิษฐานว่าสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย และมีรูปปั้นของชายคนหนึ่ง เล่ากันว่าเป็น รูปปั้นของขุนอินทประมูล นายอากรที่ยักยอกเงินหลวงนำไปสร้างวัด ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบก็ทรงให้ทำการสอบสวน ขุนอินทประมูลไม่ยอมพูดอะไร จึงถูกลงโทษโดนเฆี่ยนจนตาย วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดขุนอินทประมูล”

  

ค่ะ ปัจจุบันองค์พระนอนก็ยังคงอยู่กลางแจ้งไม่มีวิหารคลุมเช่นพระนอนองค์อื่น เหลือไว้แต่เสาพระวิหารของเดิมที่ยังปรากฏอยู่รอบองค์พระนอน และรอบๆบริเวณองค์พระก็มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่หลายต้น ทำให้รู้สึกสงบร่มเย็นดี เหมาะแก่การไปนมัสการให้เกิดความสุขสงบตามธรรมชาติ ซึ่งแปลกออกไปจากบรรยากาศของพระพุทธรูปที่อยู่ในพระวิหารไปอีกแบบนึงค่ะ....ถ้าไม่นับพระอุโบสถไฮเทคหลังใหม่ล่าสุด

 

และก่อนปิดทริปวันนี้ มดก็เลยไปดูสถานที่อีกแห่งหนึ่ง อยู่ในอำเภอโพธิ์ทองเหมือนกัน และมีบรรยากาศธรรมชาติคล้ายๆกันแต่ที่นี่ไม่ใช่วัดนะคะ ที่นี่มีชื่อว่าพระตำหนักคำหยาดค่ะ   ตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนาเลยทีเดียว  

ปัจจุบันถึงแม้จะผุพังเหลือให้เห็นแต่เพียงโครงอาคารและผนัง 4 ด้าน แต่ยังคงเห็นเค้าความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่มากพอที่จะสามารถจินตนาการได้ว่าในสมัยก่อนนั้น สถานที่แห่งนี้มีความงดงามขนาดไหนค่ะ

ครั้งหน้ามดจะพาชมพระตำหนักคำหยาดโดยละเอียดเลยค่ะ

ต้องติดตามชมกันให้ได้นะคะ...ใน TRAVEL CHOICE  อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว ที่เติมเต็มความสุข   ให้กับชีวิตคุณ

 

 

 

ความคิดเห็น

วันที่: Sat May 18 14:52:29 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0