Support
travelchoicetv.com
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

โพธิ์ทอง-วิเศษชัยชาญ

info@twoplusone.asia | 18-12-2556 | เปิดดู 3500 | ความคิดเห็น 0

 

โพธิ์ทอง-วิเศษชัยชาญ

 

  

 

และก่อนปิดทริปวันนี้ มดก็เลยไปดูสถานที่อีกแห่งหนึ่ง อยู่ในอำเภอโพธิ์ทอง   เหมือนกัน และมีบรรยากาศธรรมชาติคล้ายๆกัน แต่ที่นี่ไม่ใช่วัดนะคะ ที่นี่มีชื่อว่า    พระตำหนักคำหยาดค่ะ   ตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนาเลยทีเดียว ปัจจุบันถึงแม้จะผุพังเหลือให้เห็นแต่เพียงโครงอาคารและผนัง 4 ด้าน แต่ยังคงเห็นเค้าความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่มากพอที่จะสามารถจินตนาการได้ว่าในสมัยก่อนนั้น สถานที่แห่งนี้มีความงดงามขนาดไหนค่ะ


  

 

พระตำหนักคำหยาด เป็นตำหนักตึกก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร มีลักษณะเป็น สถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่อาจได้รับแบบแผนมาจากต่างประเทศ คือสร้างพื้นสองชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุนสูง ฐานแอ่นโค้งแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย เจาะช่องรูปกลีบบัวที่ฐาน  ชั้นบนเป็นพระตำหนัก แต่เดิมคงมีพื้นไม้กระดาน แต่ปัจจุบันหักพังไปหมดแล้ว



  

ผนังเจาะหน้าต่างด้านละห้าห้อง ซึ่งยังคงเห็นเค้าความสวยงามด้านศิลปกรรม คือ มีลวดลายประดับซุ้มจรนำ และมีการใช้หน้าต่างหลอกด้วย คือทำแต่กรอบหน้าต่าง ไม่ได้เจาะจริง แต่ภายในเจาะช่องรูปกลีบบัว สำหรับตามประทีบในเวลากลางคืน  นอกจากนี้ยังมีมุขเด็จด้านหน้า และด้านหลัง  จะเห็นได้ว่า ตัวตำหนักยังคงสภาพดี แม้ว่าเครื่องไม้หลังคาต่างๆจะผุพัง ไปหมดแล้วก็ตามค่ะ


และเหตุที่เรียกว่า พระตำหนัก เพราะเชื่อกันว่า เป็นสถานที่ที่
เจ้าฟ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จมาประทับเมื่อครั้งเสด็จออกผนวชที่วัดโพธิ์ทอง  หรืออาจจะสร้างขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เพื่อเป็นที่ประทับแรม เวลาเสด็จมาประพาสแถบอ่างทอง เพราะมีการสร้างด้วยความประณีตงดงาม  ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยเอาไว้เมื่อครั้งเสด็จมาทอดพระเนตรพระตำหนักคำหยาด เมื่อพุทธศักราช 2451 ก็เป็นได้ค่ะ


ชมพระตำหนักคำหยาดกันแล้ว
  มดขอกลับมาพาไปชมวัดกันต่อจากอำเภอโพธิ์ทอง คราวนี้เราไปกันที่อำเภอวิเศษชัยชาญ ไปที่วัดเขียนค่ะ คิดเป็นระยะทางห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 12 กิโลเมตร แค่นั้นเองค่ะ  ที่มดอยากพาไปชมก็เพราะมีคำร่ำลือว่า ที่วัดนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามที่สุดของเมืองอ่างทอง เลยทีเดียว  อย่างนี้ก็ควรต้องไปชมใช่มั๊ยคะ....


 

 

เมื่อมาถึงวัดเขียน มดออกจะแปลกใจนิดๆค่ะ เพราะวัดค่อนข้างจะเงียบสงบมากๆ ไม่เห็นนักท่องเที่ยวเลยสักคน ตอนแรกนึกว่าพระอุโบสถที่มีภาพเขียนหรือภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นปิดด้วยซ้ำ ก็เลยเดินเข้าไปดูป้าย เห็นว่าประตูโบสถ์เปิดสองช่วงเวลา คือ    9 โมง ถึง 10 โมงเช้า และ บ่ายโมง ถึงบ่ายสามโมงครึ่ง  แต่มดโชคดีค่ะที่ไปทันช่วงบ่าย


   


...และมีที่แปลกใจอีกเรื่องหนึ่ง คือมดเห็นพระอุโบสถเป็นแบบสมัยใหม่ แต่ตามข้อมูลบอกว่าเป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา และภายในโบสถ์มีภาพเขียนงดงามที่สุดในเมืองอ่างทอง 

 

    

 

แต่พอเข้ามาข้างในก็ถึงบางอ้อค่ะ เพราะเห็นว่า มีผนังสร้างซ้อนกันเป็นสองชั้น โดยทางวัดคงจะรักษาสภาพของพระอุโบสถเก่าเพื่ออนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังส่วนที่ยังคงเหลืออยู่ไว้ โดยสร้างพระอุโบสถใหม่ครอบทั้งหลัง 

  

 

ส่วนภายนอกพระอุโบสถ ก็ยังพอเห็นซากเจดีย์เก่าแก่อยู่บ้างค่ะ ....

 

  

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดเขียนมีลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นฝีมือสกุลช่างวิเศษชัยชาญในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นเรื่อง ราวในพุทธประวัติ ตอนทศชาติชาดก และสุธนชาดก ผนังด้าน หน้าพระประธานเขียนภาพป่าหิมพานต์ สระอโนดาต และสัตว์หิมพานต์

 

  

 

การวางองค์ประกอบและโครงสีใช้สีตัดกันรุนแรง ดูโดดเด่นสวยงาม ตัวภาพมีลวดลายประดับและตัดเส้นอย่างอ่อนช้อย  มดขออนุญาตแนะนำนะคะว่า เวลามาชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง ต้องค่อยๆชมอย่างพินิจพิจารณาค่ะ ถึงจะรู้สึกในความสุนทรีของเนื้อหา และความงดงามของภาพที่ปรากฎอยู่ตรงหน้าค่ะ

 

  

 

ถึงแม้ภาพจิตรกรรมจะมีบางส่วนเสียหาย หลุดลอกไปตามกาล เวลา แต่เราก็ยังคงเห็นคุณค่าความงดงาม ความตั้งใจและฝีมือ ที่ประณีตวิจิตรบรรจงของผู้เขียนอยู่ไม่น้อยทีเดียว นับได้ว่าควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่งค่ะ ... ที่อำเภอวิเศษชัยชาญนี้ยังมีอีกวัดนึงค่ะที่ควรแวะไปชม เพราะเป็นวัดที่ถือว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของที่นี่เลยล่ะค่ะ

 

  

 

วัดวิเศษชัยชาญ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองวิเศษชัยชาญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดท่าสุวรรณต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดวิเศษชัยชาญ" เมื่อพุทธศักราช 2499   ปัจจุบันภายในวัด     ไม่มีหลักฐานสมัยอยุธยาเหลืออยู่ นอกจากรูปทรงพระวิหาร ที่มีลักษณะเหมือนมณฑป คือ เป็นจัตุรมุข มีเสากลม 12 ต้น หลังคา4 ชั้น และเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยา  นอกนั้นสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น พระอุโบสถ สร้างในพุทธศักราช 2474    

 

  

 

ภายในมีวิจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในสมัยเดียวกัน เป็นภาพพุทธประวัติ ภาพเทพชุมนุม ภาพมารผจญ

 

  

 

  

 

และภาพข้าศึกที่เป็นฝรั่งและแขกโพกผ้า โดยภาพทั้งหมดเขียนแบบทัศนียภาพและแสงเงา โดยนายปุ๋ย พุ่มรักษา ช่างในเมืองหลวง ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ค่ะ

 

  

 

ด้วยเหตุที่พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมแม่น้ำน้อยจึงมักถูกน้ำท่วมทุกปี  พระอุโบสถของที่นี่จึงถูกยกสูงเพื่อให้พ้นน้ำอย่างที่ เห็นค่ะ 

 

  

 

และถัดจากบริเวณวัดวิเศษชัยชาญไปนิดนึง ก็จะเห็นอนุสาวรีย์วีรชนชาววิเศษชัยชาญสองท่าน ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหน้าโรงเรียนวิเศษชัยชาญวิทยาคม เป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัย ชาญและชาวอ่างทองร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษชาววิเศษชัยชาญ คือ ปู่ดอกและปู่ทองแก้ว ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มของ 11 วีรชนแห่งชาวบ้านบางระจัน ที่ยอมสละชีวิตอย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องแผ่นดินสยาม ในการสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจันในพุทธศักราช 2309 ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกเป็นครั้งที่สองในปีถัดไป

 

 

อนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว ทำให้มดมีความสนใจอยากที่จะติดตามไปรำลึกถึงความกล้าหาญของชาวบ้านบางระจันท่านอื่นๆให้ครบถ้วนกันดีกว่าค่ะ  จากที่นี่เราก็จะต้องมุ่งหน้าไปที่ค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี มดจะพาไปย้อนอดีตฉายภาพการรบครั้งประวัติศาสตร์ ที่ชาวบ้านราษฎรลุกขึ้นสู้รบเพื่อปกป้องแผ่น ดินเกิด และสามารถต้านทานการเข้าตีของกองทัพพม่าได้หลายครั้ง จนได้ชื่อว่า วีรชนแห่งค่ายบางระจัน ติดตามชมกันใน TRAVEL CHOICE  อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว ที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณ 

 

 

ความคิดเห็น

วันที่: Sat May 18 13:29:04 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0