Support
travelchoicetv.com
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

ชุมพร - ระนอง

info@twoplusone.asia | 28-04-2557 | เปิดดู 1781 | ความคิดเห็น 0

  

หากย้อนกลับก่อนหน้านั้นในราวสมัยอยุธยา  เชื่อกันว่าบริเวณวัดประเดิมเคยแห่งนี้ค่ะ เคยเป็นที่ตั้งของเมืองชุมพรเก่า 

 

  

 

วัดประเดิม ตั้งอยู่ตรงฝั่งซ้ายของ แม่น้ำชุมพรที่ตำบลตากแดดนี่ล่ะค่ะ  ต่อมาย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลท่ายาง และที่ตำบลท่าตะเภาสาเหตุที่ย้ายเมืองบ่อยอาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นเพราะการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำท่าตะเภา และแม่น้ำชุมพร หรือ อาจเป็นเพราะในสมัยอยธุยาเมืองชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านในการทำศึกสงคราม จึงไม่สามารถสร้างบ้านเมืองถาวรได้ ค่ะ

 

  

  

 

ที่วัดนี้มีโบราณสถานสำคัญๆที่ยังพอจะหลงเหลืออยู่อย่าง  พระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสมัยศรีวิชัย  ใบเสมาหินทราย เศียรพระพุทธรูปหินทรายศิลปะศรีวิชัย เศียรพระ พุทธรูปปูนปั้นรูปแบบศิลปะแบบสมัยอยุธยา  ในสมัยก่อนน่าจะมีโบราณวัตถุชนิดต่างๆอยู่ในวัดมากพอสมควร แต่ได้ชำรุดหักพังไปตามกาลเวลาและจากภัยสงครามปัจจุบันโบราณวัตถุต่างๆ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ไม้สอยของชาวบ้านในสมัยก่อน ได้ถูกเก็บรักษาไว้บนพิพิธภัณฑ์วัดประเดิมแห่งนี้ล่ะค่ะ เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหาย หรือถูกลักขโมย

 

 

ที่จังหวัดชุมพรมีเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย เกี่ยวกับสงครามค่ะ  อย่างเช่น การสู้รบอย่างหนักหน่วงในช่วงสมัยของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  ซึ่งทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" ค่ะ

 

 

กับวีรกรรมยุวชนทหาร ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เชิงสะพานท่านางสังข์  ตำบลท่ายางอำเภอเมืองชุมพรค่ะ เรื่องราวของนักเรียน โรงเรียนศรียาภัย ที่ได้ทำการสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใหญ่  จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติยศ ด้วยการสร้างเป็นอนุสาวรีย์ขึ้นที่นี่ค่ะ

 

ยุวชนทหาร  คือ เยาวชนที่ได้รับการฝึกวิชาทหารขึ้นในช่วงระหว่างปี 2477 - 2490 เนื่องจากรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายพื้นฟูการฝึกวิชาทหารให้แก่ประชาชน ดำเนินการโดยกรม ยุวชนทหาร กระทรวงกลาโหม  ในช่วงกลางปี 2482  เกิสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป สงครามได้ลุกลามออกไป มีประเทศต่างๆเข้าร่วมรบมากมาย จนกระทั่งญี่ปุ่นได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี และ อิตาลี ในวันที่ 27 กันยายน  2483  ทำให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกอย่างเต็มตัว ด้วยการยึดดินแดนที่เป็นอาณานิคมของชาติฝ่ายสัมพันธมิตร  โดยชูนโยบาย เอเชียเพื่อชาวเอเชีย  เพื่อสร้างเอเชียให้เป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา

 

 

เช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช  2484 กองทัพญี่ปุ่นได้โจมตีฐานทัพ เพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา และส่งกองทัพไปโจมตีประเทศอื่นๆ ในแถบแปซิฟิก หมู่เกาะต่างๆของอินโดนีเซีย ทะเลจีนใต้ รวมถึงไทยด้วย ในวันเดียวกันนั้น กองทัพญี่ปุ่นได้เคลื่อนกำลังพลเข้าสู่ประเทศไทยทั้งทางบกและทางน้ำ สำหรับทางบกนั้นญี่ปุ่นได้เข้ามาทางพระตะบองและพิบูลสงคราม ส่วนทางน้ำได้เข้ามาทางสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี

 

จากการที่ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังพลขึ้นบกที่ชุมพร  ทำให้เกิดวีรกรรมยุวชนทหาร ซึ่งเป็นการร่วมรบเพื่อปกป้องแผ่นดิน  ณ บริเวณสะพานท่านางสังข์ และที่วัดท่ายางใต้ โดยมี ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน เป็นผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารที่ 52 จัดกำลังยุวชนทหารหลายสิบนายไป ต้านทานกองทัพญี่ปุ่นที่จะเข้ามาทางปากน้ำชุมพร  ผลจาการสู้รบในครั้งนั้น ทำให้ฝ่ายไทยเสียชีวิต จำนวน 6 นาย ในจำนวนนี้เป็นยุวชนทหาร 5 นาย  บาดเจ็บ 5 นาย  ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิต 23 นาย และบาดเจ็บ 7 นาย

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง พุทธศักราช 2491 รัฐบาลได้รื้อฟื้นการฝึกวิชาทหารขึ้นมาใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อจาก กรมยุวชนทหาร เป็น กรมการรักษาดินแดน  และเปลี่ยนชื่อผู้เข้ารับการฝึก จากเดิมยุวชนทหาร เป็น นักศึกษาวิชาทหาร

 


 

และเพื่อระลึกถึงวีรกรรม ของยุวชนทหาร ที่ได้เข้าร่วมกับทหารกองประจำการ ตำรวจและประชาชน ทำการสู้รบ ต่อต้านทหารญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกตามจังหวัดชายทะเลของไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484  ทางราชการ  จึงกำหนดให้วันที่ 8 ธันวาคมของทุกปี เป็น วันยุวชนทหาร หรือวันนักศึกษาวิชาทหาร ในปัจจุบัน

 

 

 

ท่ามกลางความโหดร้ายของสงคราม สถานการณ์ก็สร้างวีรบุรุษให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ตลอดมาค่ะ Travel choice เลือกจะไปต่อกันที่ระนองค่ะ

 

 

 

                                                
ด่านแรกของเมืองระนอง  “ศิลาสลักพระปรมาภิไธย จปร.” ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงจารึกไว้  ครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสโดยขบวนช้างขบวนม้าจากชุมพร มาประทับที่ ตำบลปากจั่น เมื่อปี 2433   เป็นจุดสังเกตว่าเราเข้าเขตเมืองระนองแล้วค่ะ

 

 

ระหว่างเส้นทางสายชุมพร–ระนอง เราจะต้องผ่าน คอคอดกระ  อยู่ระหว่างอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับอำเภอสวี จังหวัดชุมพร  ซึ่งเป็นส่วนแคบที่สุดของแหลมมลายู ในสมัยโบราณเคยเป็นทาง ผ่านสำหรับเดินตัดข้ามมาจากอ่าวไทย ออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิคนั่นเองค่ะ ถ้านับจากระยะทางบนบก คอคอดกระนี้  มีความกว้าง เพียง 44 กิโลเมตรค่ะ

 

 

ความคิดที่จะขุดคอคอดกระ เพื่อเชื่อมสองฝั่งทะเลของไทย คือฝั่งอันดามัน กับฝั่งอ่าวไทย มีขึ้นเป็นครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา   โดยมีเหตุผลหลักที่สำคัญ คือ ต้องการขุดคลองเพื่อความสะดวกรวดเร็วต่อการเคลื่อนกองทัพเรือ จากฝั่งอ่าวไทยไปยังฝั่งอันดามัน เป็นการขยายความเข็มแข็งของราชอาณาจักรในยุคสมัยนั้น   และเพื่อให้การค้ากับต่างประเทศโดยเฉพาะชาติยุโรป ไม่ต้องเสียเวลาเดินเรืออ้อมผ่านทางช่องแคบมะละกา โดยจะสามารถตัดตรงมายังอ่าวไทยมุ่งไปกรุงศรีอยุธยาได้สะดวก แต่พอเมืองมะริดได้ถูกพม่ายึดไป  การขนส่งสินค้าทางบกจากเมืองมะริดเข้ามายังประเทศสยามก็ต้องยุติลง   การขุดคอคอดกระก็เลยไม่เกิดขึ้น ค่ะต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีความคิดที่จะขุดคลองกระขึ้นอีก เพื่อเชื่อมทะเลสาบสงขลา กับมหาสมุทรอินเดีย เพื่อประโยชน์ทางการทหาร แต่ก็ต้องล้มเลิกไป ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง จนกระทั่ง ในพุทธศักราช 2406  สมัยรัชกาลที่ 4  อังกฤษสำรวจพบส่วนที่แคบที่สุดของคอคอดกระ จึงได้เสนอขอพระบรมราชานุญาตดำเนินการขุดคลอง แต่ปรากฎว่าติดสันเขา ขุดลำบากเครื่องมือไม่มี จึงได้ยกเลิก อีกสามปีต่อมา คลองกระเริ่มโด่งดังไปทั่วโลก  เมื่อฝรั่งเศสขอเจรจาเพื่อดำเนินการขุดบ้าง  หลังจากที่สามารถขุดคลองสุเอซสำเร็จ  แต่พระองค์ไม่ทรงอนุญาต  เนื่องจากทรงเกรงจะเสียพระราชอาณาจักร  และเนื่องด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับอังกฤษที่เป็นเจ้าของกิจการท่าเรือในปีนัง และสิงคโปร์  ทำให้โครงการนี้ มีอันต้องล้มเลิกไปอีกเหมือนกันหลังจากสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โครงการขุดคลอง ณ บริเวณ คอคอดกระ ก็กลายเป็นโครงการที่หลายฝ่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศพยายามผลักดันให้มีการนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อ ต้าน เพราะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูง แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ  จึงยังคงเป็นโครงการที่ยืดเยื้ออยู่จนถึงทุกวันนี้

 

คอคอดกระเป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมาลายูค่ะ  แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นส่วนที่แคบที่สุดของประเทศ  เพราะจากการที่เราดูแผนที่แล้วเห็นว่าแคบ  แต่จริงๆแล้วส่วนที่แคบที่สุดของประเทศอยู่ที่จังหวัดตราดค่ะ
 
 

 

 

ที่หมู่ 4 ตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ริมคลองละอุ่น จะมีซากรถไฟโบราณ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่ค่ะ ที่นำซากรถไฟมาตั้งตรงนี้นะค่ะ  เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกว่า ในอดีตเป็นจุดสถานีปลายทางที่ทหารญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อมาจากจังหวัดชุมพร เป็นระยะ ถึง 90 กม. เพื่อใช้ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังปลายทางสถานีเขาฝาชี   ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ะ

เส้นทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี-คลองละอุ่น หรือทางรถไฟสายคอคอดกระนี้  ทหารญี่ปุ่นใช้เป็นเส้นทางรถไฟลำเลียงอยู่ประมาณ 11 เดือน  จนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินพันธมิตรได้ทำการบินโจมตีทิ้งระเบิดทำลายหัวรถจักรทางรถไฟ เรือเสบียง และเรือบรรทุกอาวุธที่รับขนถ่ายจากขบวนรถไฟ ถูกระเบิดจมน้ำที่คลองละอุ่นหลังจากนั้น   เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2488  เครื่องบินพันธมิตรก็ได้ปฏิบัติการทิ้งระเบิด และกราดยิงด้วยปืนกลบริเวณสถานีรถไฟ รางรถไฟสายชุมพร-ละอุ่นซ้ำอีกระลอก ค่ายทหารญี่ปุ่นที่เขาฝาชี จึงได้รับความเสียหายมาก

 

 

เส้นทางรถไฟสายชุมพร-ละอุ่น   เกิดขึ้นพร้อมๆ กับทางรถไฟสายกาญจนบุรีในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาค่ะ  แต่ปรากฏว่ามีคนไทยน้อยมากที่รู้จักเส้นทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี-คลองละอุ่น หรือที่เรียกกันว่า ทางรถไฟสายคอคอดกระ  เพราะก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม  ญี่ปุ่นได้ทำการรื้อถอนทางรถไฟสายนี้ เมื่อสงครามยุติลง สหประชาชาติก็ได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย โดยทหารอังกฤษได้ทำการรื้อทางรถไฟสายนี้ต่อจากญี่ปุ่นออกหมด  ในปัจจุบัน จึงไม่มีทางรถไฟสายนี้ให้เห็น เหมือนกับในจังหวัดจังหวัดกาญจนบุรีค่ะ

 

เราได้รู้ว่าคอคอดกระไม่ใช่ส่วนที่แคบที่สุดของประเทศ  แต่เป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมาลายู  สำหรับส่วนที่แคบที่สุดของประเทศมีความกว้างเพียงแค่ 450 เมตร อยู่บนเส้นทางสายตราด-คลองใหญ่ ต.หาดเล็ก จ.ตราด และทางรถไฟสายคอคอดกระที่เป็นทางรถไฟสายสำคัญในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา คู่แฝดของทางรถไฟสายมรณะกาญจนบุรี  ที่อีกหนึ่ง..ยังคงอยู่ และอีกหนึ่ง...เหลือเพียงชื่อ   หากแต่ถูกรื้อฟื้นขึ้นจากการเดินทางในครั้งนี้ค่ะ

 

ความคิดเห็น

วันที่: Sat May 18 12:53:28 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0