อับเฉา
อับเฉา คำนี้มักได้ยินบ่อยๆ เมื่อมัคคุเทศก์อธิบายถึง ตุ๊กตาหินที่ประดับอยู่ตามลานวัดต่างๆ ซึ่งที่มาของคำเรียกขานนี้ก็เนื่องจากการค้าทางสำเภาจากไทยไปเมืองจีนนั้น สินค้าที่บรรทุกไปขายเต็มลำเรือ ส่วนใหญ่มักเป็นข้าวสาร หนังสัตว์ เขาสัตว์ ตะกั่ว ดีบุก ดินประสิว ไม้หอมชนิดต่างๆ รวมไปถึงไม้สัก ไม้แดง ที่มีน้ำหนักมาก ในตอนขากลับนั้น เมื่อจำหน่ายสินค้าหมดก็บรรทุกข้าวของจากเมืองจีนกลับมาขาย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครื่องเหล็ก เครื่องทองเหลือง เครื่องเรือน ใบชา ถ้วยชาม และผ้าแพรพรรณชนิดต่างๆ ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่า เมื่อเรือเบาถูกคลื่นลมแรงจะทำให้เรือโคลง จึงต้องหาเครื่องถ่วงน้ำหนักเรือหรือที่เรียกว่า อับเฉา ซึ่งก็คือตุ๊กตาศิลาจีนหรือแผ่นหินที่หาได้ง่ายและมีราคาถูกมาใส่ในท้องเรือ ตุ๊กตาและแผ่นศิลาเหล่านี้ จึงถูกเรียกตามศัพท์ดังกล่าวว่า "อับเฉา"
อับเฉา ที่เห็นตามวัดวาอารามทุกวันนี้ ส่วนใหญ่นำเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะช่วงรัชกาลที่ ๓ ที่การค้าสำเภารุ่งเรือง และทรงมีพระราชนิยมในศิลปกรรมจีน เครื่องศิลาที่นำเข้ามานอกจากเป็นรูปตุ๊กตาประเภทต่างๆ แล้ว ยังมีรูปแบบอื่นๆ อีกไม่ว่าเป็นภาชนะสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กระถางธูป แจกัน เก๋งจีนจำลอง เป็นต้น