ยอดพรหมพักตร์
ศิลปะขอม ได้ส่งอิทธิพลต่อศิลปะในยุคสมัยต่างๆ ของไทยเรามากมาย นับตั้งแต่ยุคสุโขทัยเรื่อยมาจนถึง ยุครัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และศาสนา
ยอดพรหมพักตร์ เป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมอย่างหนึ่งของไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะขอมอย่างชัดเจน
ในความหมายแรก ยอดพรหมพักตร์ คือส่วนยอดของสถาปัตยกรรมแบบขอมที่ทำเป็นพระพรหมสี่หน้าหันไปในทั้ง 4 ทิศ นิยมทำเป็นยอดของปราสาทยอดปรางค์ ที่สร้างขึ้นเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์
ความหมายที่สอง คือส่วนยอดของสถาปัตยกรรมแบบขอมที่ทำเป็นรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประดับในทิศทั้ง 4 นิยมทำเป็นยอดของปรางค์ที่สร้างขึ้นเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน ไทยรับคตินี้มาจากขอม แต่ยังคงเรียกว่ายอดพรหมพักตร์เช่นเดียวกันกับคติพราหมณ์ และนิยมทำประดับยอดของสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น เช่น ยอดปราสาท ยอดพระเมรุมาศ ยอดประตูวัง หรือ ยอดบุษบก เป็นต้น
วันที่: Mon Nov 25 20:48:31 ICT 2024
|
|
|