หน้าบัน
หน้าบัน หมายถึง องค์ประกอบอาคารที่ใช้อิฐหรือไม้ ก่อหรือปิดทับบริเวณส่วนที่เป็นโพรงของโครงจั่วหลังคา เพื่อป้องกันไม่ให้แดดหรือฝนสาดเข้าไปภายในอาคาร นิยมแกะสลักหรือปั้นปูนประดับตกแต่ง
ความงดงามของลวยลายหน้าบันที่เห็นได้เด่นชัด และมีการออกแบบหลากหลายขึ้นอยู่กับฝีมือและความชำนาญของช่างในสมัยก่อนนั้น ส่วนใหญ่เป็นการแกะสลักไม้แล้วปิดทองคำเปลวประดับกระจกสี การออกแบบลวดลายที่บริเวณหน้าบันก็ขึ้นอยู่กับขนาดของหน้าบันซึ่งอาจออกแบบเป็นลายก้านขด ลายกระหนก หรือลายเปลว แล้วแต่ความเหมาะสม
ถ้าหน้าบันแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ก็บ่งบอกว่าน่าจะสร้างในช่วงปลายอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ เพราะมีความเชื่อว่ากษัตริย์นั้นอวตารมาจากพระนารายณ์ หากหน้าบันมีลวดลายผสมไทย-จีน ก็มักแกะสลักเป็นลายดอกพุดตานประดับกระจก หรือไม่ก็ทำเป็นปูนประดับกระเบื้องและเครื่องถ้วย รูปดอกพุดตานและรูปสัตว์มงคล ตามความเชื่อของชาวจีน ก็ประมาณได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓
ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นรูปตราพระราชลัญจกร คือมงกุฎ
และในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นรูปพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราพระราชลัญจกร เช่นเดียวกัน เป็นต้น
วันที่: Mon Nov 25 22:53:07 ICT 2024
|
|
|