บางเลน - นครไชยศรี
ทริปที่แล้ว เราสิ้นสุดการเดินทางที่จังหวัดปทุมธานี แล้วมุ่งหน้าต่อมายังป้ายบอกทางตรงนี้ค่ะ…เป็นทางแยกที่เราจะเลือกเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป ...นี่ไงคะ จุดหมายต่อไปของเรา... อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อีกหนึ่งจังหวัดที่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน และ TRAVEL CHOICE ก็ขอเลือกใช้เส้นทางเส้นนี้ค่ะ เราจะไปกันที่บางเลนกันก่อน เพราะที่นั่นมีอะไรดีๆ ที่จะต้องแวะไปชมเป็นที่แรกค่ะ
มาถึงแล้วค่ะ ตลาดบางหลวง รอศอ 122 อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ตลาดเก่าแก่ริมแม่น้ำท่าจีน ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ป้ายตลาดเขียนไว้ว่า บ้านเก่าเหล่าเต็งไม้ ก็เพราะร้านค้าบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจะเป็นห้องแถวไม้สองชั้น หันหน้าเข้าหากัน ปัจจุบันก็ยังคงสภาพที่สวยงาม และเก่าแก่ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ น่ามาเดินเที่ยวชมมากทีเดียวค่ะ อ้อ...แต่ถ้าอยากจะมาหาอะไรอร่อยๆรับประทาน ดูความคึกคักของตลาด ชมวิถีชีวิตริมน้ำ ก็ต้องมาในวันเสาร์ – อาทิตย์ค่ะ
.... และต่อจากที่นี่ล่ะค่ะ จาก บางเลน เมย์ก็จะมุ่งหน้าไปยังเมืองโบราณนครไชยศรี หรือ อีกชื่อหนึ่ง คือเมืองนครปฐมสมัยโบราณนั่นเองค่ะ
เมืองโบราณนครไชยศรีคือชื่อเดิมของเมืองนครปฐมสมัยโบราณค่ะ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง มีแม่น้ำบางแก้วไหลผ่านตัวเมืองด้านตะวันออก และมีเจดีย์พระประโทณตั้งอยู่ใจกลางเมือง เป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบตามลักษณะของเมืองในอารยธรรมทวารวดี ที่ต้องสร้างคันดินและคูน้ำล้อมรอบเมือง ก็เพื่อการเกษตรและเพื่อป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำ ในขณะเดียว กัน ก็เป็นเส้นทางคมนาคมและเป็นการป้องกันข้าศึกไปในตัวด้วยค่ะ
พระประโทณเจดีย์ เป็นเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1199 สมัยเดียวกับจุลประโทนเจดีย์ และพระปฐมเจดีย์ ตามตำนานเล่าว่า ที่นี่เคยเป็นตำบลบ้านพราหมณ์ ซึ่งพราหมณ์ได้นำเอา โทณะ มาบรรจุไว้ในเรือนหิน แล้วจึงมีการสร้างพระเจดีย์ล้อมรอบเรือนหินที่บรรจุโทณะหรือทะนานทองไว้ จึงเรียกชื่อว่า พระประโทณเจดีย์
ในพุทธศักราช 2551 ทางราชการได้ทำการบูรณะขุดย้ายเอาดินและคอนกรีตซึ่งหุ้มพระเจดีย์ส่วนล่างออก จึงพบว่าแท้จริงแล้วพระประโทณเจดีย์เป็นเจดีย์แบบทวารวดีสมัยพุทธศตวรรษที่12 โน่นเลยค่ะ คือเป็นทรงโอคว่ำ แต่ถูกบูรณะเปลี่ยนยอดให้เป็นยอดปรางค์แบบในสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบันค่ะ
ที่เห็นอยู่นี่ เคยเป็นจุลประโทณเจดีย์ค่ะ แต่ตอนนี้เหลือสภาพเป็นอย่างที่เห็น ซากเจดีย์นี้ได้รับการบูรณะแล้วนะคะ แต่ก็เป็นสภาพอย่างที่เห็นนี่ล่ะค่ะ อยู่บริเวณด้านหลังวิทยาลัยเทคนิคนครปฐมในปัจจุบัน แต่ในสมัยทวารวดี เป็นเจดีย์ที่งดงามตั้งอยู่กลางเมืองโบราณนครไชยศรีเช่นเดียวกันกับพระประโทณเจดีย์ เพราะอยู่ใกล้ๆกันค่ะ
จุลประโทณเจดีย์ ถือเป็นเจดีย์ที่สำคัญมากองค์หนึ่งในเมืองโบราณ นครไชยศรี มีการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พุทธศักราช 2482 เป็นต้นมา กรมศิลปากรได้ทำการขุดสำรวจ พบว่า เดิมเป็นเจดีย์ที่มีฐานสี่เหลี่ยม มีภาพปูนปั้นที่ฐานของเจดีย์โดยรอบ เป็นภาพพุทธชาดก เล่า ถึงการบำเพ็ญทานบารมีของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ปัจจุบันภาพปูนปั้นเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง และพิพิธภัณฑ สถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ เมืองโบราณนครไชยศรี นับว่าเป็นเมืองหลวงของรัฐทวารวดี ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16 แต่หลังจากพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา เมืองนครไชยศรีก็ถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้าง อาจจะมีสาเหตุมาจากแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีนที่ไหลผ่านตัวเมืองแต่เดิม ได้เปลี่ยนทางเดินใหม่และไหลห่างจากตัวเมืองออกไปมาก ทำให้ผู้คนอยู่ไม่ได้ต้องทิ้งเมืองย้ายไปอยู่ที่อื่น และถือเป็นจุดจบของเมืองโบราณนครไชยศรีแห่งอาณาจักรทวารวดีนับแต่นั้นมาค่ะ
หลังจากที่เมืองโบราณนครไชยศรีได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานานหลายร้อยปี ในเวลาต่อมา ก็ได้มีการจัดตั้งเมืองนครชัยศรีขึ้น มาใหม่ เมื่อพุทธศักราช 2104 ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมืองนครชัยศรีในครั้งนี้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี ซึ่งเรียกกันว่าในปัจจุบันว่า ตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี เมื่อตั้งเมืองใหม่แล้ว ประชาชนก็พากันอพยพเข้ามาอยู่กันมากขึ้น
และต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพบองค์พระปฐมเจดีย์ และเกิดพระราชศรัทธาจึงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ทั่วทั้งบริเวณ ตั้งแต่ พุทธศักราช 2396 เป็นต้นมาค่ะ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพิจารณาลักษณะการก่อสร้างและสภาพโดยทั่วไปของพระเจดีย์แล้ว ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นพระสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะมีรูปทรงเดียวกับพระสถูปรามเจดีย์ ในกรุงอนุราชบุรี เกาะสิงหลทวีปหรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน ทรงเชื่อมั่นว่าเป็นพระเจดีย์องค์แรกและเป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นในแถบนี้ จึงทรงพระราชทานนามพระสถูปเจดีย์ว่า"พระปฐมเจดีย์" และพระราชทานนามวัดว่า "วัดพระปฐมเจดีย์" และโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์ ตั้งแต่ พุทธศักราช 2396 เป็นต้นมา โดยโปรดให้สร้างเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ครอบเจดีย์องค์เดิม สร้างวิหารสี่ทิศ และมีวิหารคตเชื่อมโดยรอบ มีพระพุทธรูปปางต่างๆ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร และเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงกลมล้อมรอบองค์พระเจดีย์ จากระเบียงออกมาเป็นลาน มีการสร้างหอระฆังไว้เป็นระยะ มีการจำลองรูปพระเจดีย์องค์เดิม โดยมีรูปทรงคล้ายองค์ระฆังและมียอดเป็นรูปปรางค์แบบเขมร จำลองพระเจดีย์วัดมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช สร้างภูเขาจำลอง และมีการปลูกต้นไม้ที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นจิก ไว้ตรงบริเวณรอบนอก
ในช่วงระหว่างที่เริ่มมีการปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์อยู่นั้น นะคะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังโปรดให้สร้างพระราชวังที่ประทับไว้คู่กับวัดอีกด้วยค่ะ เรียกว่า วังปฐมนคร ใช้เป็นพระตำหนักพักแรม เมื่อครั้งทรงเดินทางมาสักการะพระปฐมเจดีย์ แต่พระราชวังแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างไป เมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์ ทำให้ไม่เหลือร่องรอยของพระราชวังอีกเลยค่ะ
นอกจากพระราชวังปฐมนครแล้ว พระองค์ยังโปรดให้ขุดคลองเจดีย์บูชาอีกด้วยค่ะ เพื่อให้การคมนาคมในตำบลพระปฐมเจดีย์สะดวกมากขึ้น โดยปากคลองเริ่มที่ท้ายบ้านท่านา ปลายคลองมาจรดพระปฐมเจดีย์ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่มีราษฎรอพยพมาอยู่บริเวณพระปฐมเจดีย์มากนัก ส่วนใหญ่ยังคงตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ตามริมแม่น้ำนครชัยศรี ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการ สร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านองค์พระปฐมเจดีย์ แต่ตอนนั้นท้องที่รอบพระปฐมเจดีย์ยังเป็นป่าเปลี่ยวอยู่โดยมาก พระองค์จึงโปรดให้ย้ายเมืองนครชัยศรี จากตำบลท่านา มาตั้งที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ และโปรดให้วางผังเมืองใหม่ โดยสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ ขึ้นหลายแห่ง ตลอดจนตัดถนนขึ้นใหม่อีกหลายสาย ราษฎรจึงพากันอพยพมาอยู่มากขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังคงเรียกว่าเมืองนครชัยศรี และเป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลอยู่เรื่อยมาจนตลอดรัชกาลค่ะ
นับว่ายังโชคดีอยู่นะคะ ที่คลองเจดีย์บูชา ยังคงมีสภาพให้เห็นเป็นคลองอยู่จนถึงปัจจุบันค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเมืองนครชัยศรีที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ที่เมืองแห่งนี้ และโปรดให้เปลี่ยนสถานะของตำบลพระปฐมเจดีย์ ประกาศตั้งให้เป็น “เมืองนครปฐม” ค่ะ
รายละเอียดจะเป็นอย่างไร มีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน ติดตามชมกันให้ได้นะคะ
ในรายการ TRAVEL CHOICE อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว ที่จะเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณ
วันที่: Mon Nov 25 13:25:31 ICT 2024
|
|
|