โขลนเรือ
เรือพระราชพิธีถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมและฝีมือของช่างที่เยี่ยมยอด ทั้งช่างแกะสลัก ช่างรัก ช่างประดับกระจก ช่างไม้ ช่างเขียน โดยเฉพาะส่วนที่งดงามที่สุดของเรือพระราชพิธี คือ “โขลนเรือ” หรือ “โขนเรือ” นั้นยิ่งแสดง ให้เห็นศิลปะไทยอันวิจิตรงดงามยิ่ง
โขนเรือ คือ ไม้ฉลักรูปลอยตัว ติดอยู่ตอนหัวเรือ เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติม ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อความงดงามในด้านศิลปะเพื่อแสดงศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของ เช่น รูปนารายณ์ทรงครุฑ สุพรรณหงส์ หรืออนันตนาคราช ที่ทำขึ้นประดับหัวเรือพระที่นั่ง
ความสำคัญของโขนเรือพระที่นั่งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค จะต้องมีตัวสัตว์ชั้นสูงจากวรรณคดี ที่มักจะกลายเป็นที่มาของชื่อเรียกเรือพระราชพิธีลำดังกล่าวด้วย การนำสัตว์ในวรรณคดี ไม่ว่าจะเป็นหงส์ ครุฑ วานร มาเป็นโขนเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีต่างๆ ก็เพราะเชื่อว่า พระเจ้าแผ่นดินคือสมมติเทพ (สม-มุด-ติ-เทพ)
ซึ่งมีสัตว์พวกนี้เป็นพาหนะ เสมือนการประกาศแสนยานุภาพของกษัตริย์ที่พร้อมออก ศึกสงคราม โดยพระเจ้าแผ่นดินจะประทับบนพระราชบัลลังก์กัญญาหรือบุษบกตามแต่พระราชพิธี
วันที่: Mon Nov 25 17:35:15 ICT 2024
|
|
|