สำปั้น
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนสายสัมพันธ์ ระหว่างคนไทยกับสายน้ำได้อย่างชัดเจน คือ การใช้เรือในการสัญจร ด้วยเหตุที่เมืองไทยเคยมีแม่น้ำลำคลองมากมาย ผู้คนตั้งถิ่นฐานตามสองฝั่งแม่น้ำ ทั้งอยู่บนตลิ่งและลอยอยู่ในน้ำ เรือจึงเป็นพาหนะที่เหมาะที่สุดสำหรับคนไทย และทำให้เกิดรูปแบบต่างๆของเรือพื้นบ้านมากมาย
สำปั้น เป็นชื่อของเรือต่อชนิดหนึ่ง ใช้เป็นพาหนะสำหรับอาศัยไปมา หรือบรรทุกสิ่งของสินค้าขึ้นล่องทางน้ำ โดยการแจวหรือพาย สันนิษฐานว่า ได้แบบอย่างจากเรือของจีน สำปั้น เป็นเรือต่อด้วยไม้กระดานแผ่นยาวพอประมาณ จำนวนสามแผ่นประกอบเข้าเป็นลำเรือ ภายหลังได้มีการต่อเติม และดัดแปลงให้มีรูปลักษณะ ตามความนิยม และประโยชน์ใช้สอย จึงมีเรือสำปั้นต่างชนิดและเรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น
สำปั้นเพรียว หรือ เรือเพรียว เป็นเรือสำปั้นขนาดเล็กและเพรียว นั่งได้เพียงคนเดียว มีผู้นำไปถวายวัดสำหรับพระภิกษุพายออกบิณฑบาต
สำปั้นประทุน สำปั้นจ้าง เป็นเรือขนาดกลาง ติดหลักแจวหนึ่ง หรือสองหลัก ตอนกลางลำเรือทำประทุนรูปโค้งกั้นแดดกันฝนต่างหลังคา ใช้สำหรับเดินทางรอนแรมไปไกล ๆ
สำปั้นสวน เป็นเรือขนาดกลาง ใช้บรรทุกผลิตผลจากสวน
วันที่: Mon Nov 25 13:29:43 ICT 2024
|
|
|