ตาลิปัตร
"ตาลิปัตร" หรือ "ตาลปัตร" เป็นคำภาษาไทยที่นำมาจากภาษาบาลี คือ "ตาล” (ตา-ละ) กับ “ปตฺต" (ปัด-ตะ) แปลว่า ใบตาล ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปใช้บังแดดและใช้พัดลมมาตั้งแต่โบราณ ถือเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างหนึ่งในประเทศเมืองร้อน
สำหรับสาเหตุที่พระสงฆ์นำตาลปัตรมาใช้นั้น มีผู้รู้บางท่านให้ความเห็นว่า การใช้ตาลปัตรแต่ดั้งเดิมนั้น ใช้เพื่อกันกลิ่นเหม็นเน่าของศพที่เน่าเปื่อย เนื่องจากพระสงฆ์ในสมัยโบราณจะต้องบังสุกุลผ้าห่อศพไปทำจีวร ดังนั้นท่านจึงต้องใช้ใบตาลขนาดเล็กมาบังสุกุลผ้าห่อศพไปทำจีวร และใช้ใบตาลบังจมูกกันกลิ่น ต่อมาก็เลยกลายเป็นประเพณีของสงฆ์ที่จะถือตาลปัตรไปทำพิธีต่างๆ โดยเฉพาะในพิธีปลงศพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ประทานความเห็นไว้ว่า ความคิดให้พระสงฆ์ถือตาลปัตรคงมาจากลังกา ดังนั้น พุทธศาสนิกชนในไทยก็ย่อมรับเอาพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังฆพิธีมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถือตาลปัตร หรือการตั้งสมณศักดิ์
และจากความศรัทธาที่ฆราวาสถือว่า "ตาลปัตร" เป็นสมณบริขารอย่างหนึ่งของพระสงฆ์นี่เอง จึงเกิดความคิดนำไปถวายพระ โดยนอกจากจะทำจากใบตาลแบบเดิมแล้ว ยังทำจากวัสดุอื่นที่คิดว่างามและหายาก สุดแต่กำลังศรัทธาที่จะถวาย