กลศ
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า กลด หลายๆ คนอาจคิดถึงพระอาทิตย์ทรงกลด หรือ ร่มใหญ่ ที่มีด้ามยาวใช้สำหรับกางให้เจ้านาย หรือร่มที่พระภิกษุใช้ในการธุดงค์
คำว่า กลด นี้ ในภาษาไทยยังมีอีกคำหนึ่งที่มี ศ ศาลา เป็นตัวสะกด แต่ออกเสียงพ้องกัน นั่นคือคำว่า กลศ
ความหมายของ กลศ คำนี้ หมายถึง ภาชนะสำหรับใส่น้ำมนต์ของพราหมณ์ รูปร่างคล้ายคนโท มีช่อดอกไม้ห้อยลงทั้งสองข้าง มักพบเห็นเป็นภาพลายทองหรือลายคำในศิลปะล้านนา เขียนเป็นรูปหม้อทรงสูงคล้ายแจกัน ประดับไว้ด้วยดอกบัวหลวง เรียงรายอยู่เป็นแถวบนพื้น ที่ทาสีแดง คล้ายข้าวของที่ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งชาวล้านนาจะเรียก กลศ นี้ว่าหม้อปูรณฆฏะ (ปู-ระ-นะ-ขะ-ตะ) หรือ หม้อดอก
"ปูรณฆฏะ" หมายถึงหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ตรงตัวตามรากศัพท์ที่ผูกขึ้นจากภาษาสันสกฤตสองคำ คือ คำว่า "ปูรณะ" ที่หมายถึงความบริบูรณ์ และ "ฆฏะ" (ขะ-ตะ) ที่แปลว่าหม้อน้ำ
คำว่า กลศ นี้ อาจจะเลือนหายไป เพราะเป็นที่รู้จักกันในนาม "ปูรณฆฏะ” หรือ "ลายคำ" รูปหม้อน้ำ
วันที่: Mon Nov 25 12:01:38 ICT 2024
|
|
|