บางระจัน - สิงห์บุรี
สิงห์บุรีแม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ก็เป็นดินแดนประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นสมรภูมิรบที่ห้าวหาญของชาวบ้านราษฎรไทยที่มีหัวใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยอมเสียสละชีพเพื่อชาติ ปกป้องผืนแผ่นดินไว้เพื่อลูกหลานไทย และวันนี้ TRAVELCHOICE ก็ได้เดินทางต่อจากอ่างทองมาถึงอำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรีแล้วค่ะ
เรามาถึงตรงบริเวณที่เรียกกันในครั้งนั้นว่าค่ายบางระจัน ซึ่งตั้ง อยู่ในบริเวณวัดโพธิ์เก้าต้น สถานที่ที่วีรชนชาวบ้านบางระจันได้เคยใช้เป็น ที่มั่นในการต้านกองทัพใหญ่ของพม่าได้เป็นเวลานานกว่า 5 เดือนเศษทีเดียวค่ะ
วัดโพธิ์เก้าต้น หรือ วัดไม้แดง มีชื่อเดิมว่า วัดสระไม้แดง สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ต่อมาชาวบ้านมักเรียกว่าวัดไม้แดงเพราะบริเวณรอบๆวัด มีต้นไม้แดง ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งอยู่หลายต้น ชาวบ้านเคยใช้ปีนดูข้าศึกเวลามีสงคราม และถือกันว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าตัดหรือทำลายเลยล่ะค่ะ
ภายในบริเวณวัด มีวิหารเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลายที่ยังคง เหลือให้เห็นสภาพเก่าแก่อยู่บ้างเพราะมีฐานโค้งเป็นรูปสำเภา
เชื่อกันว่าเป็นวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ พระภิกษุที่เก่งในเรื่องวิชาคาถาอาคม ชาวบ้านบางระจันทุกคนให้ความเคารพและยึดถือท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจเป็นมิ่งขวัญและพลังใจของชาวบ้าน จนทำให้สามารถต่อสู้ป้องกันข้าศึกและได้รับชัยชนะหลายครั้ง
พระอาจารย์ธรรมโชติได้เลือกเอาสถานที่บริเวณนี้เป็นทำเลที่ตั้งค่าย ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นที่ดอนมีลำธารไหลผ่านหน้าวัดจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออก และอีกสายหนึ่งมาจากทิศเหนือไหลล่องลงสู่ทิศใต้ ลักษณะคล้ายเกาะ ข้าศึกเข้าตีได้ยาก น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แล้วท่านก็ได้รวบรวมชาวบ้าน ช่วยกันสร้างค่ายขึ้นสองค่ายคือ ค่ายใหญ่ อยู่ในบริเวณวัดโพธิ์เก้าต้นแห่งนี้ และอุทยานค่ายบางระจันทั้งหมด และอีกค่ายคือค่ายเล็กอยู่บริเวณวัดประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ ค่ายบางระจัน ค่ายทั้งสองมีปีกกา ติดต่อถึงกันได้ ค่ายทั้งสองแห่ง นี้สามารถรบกับพม่าได้รับชัยชนะถึงเจ็ดครั้ง จนกระทั่งการรบครั้งที่แปด ค่ายจึงแตก รวมเวลาตั้งค่ายอยู่ได้ถึงห้าเดือนเศษ
ปัจจุบันทางราชการได้สร้างค่ายจำลองขึ้นบริเวณด้านหน้าวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจแก่ผู้พบเห็นว่า บริเวณวัดโพธิ์เก้าต้นแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบ และเป็นที่มั่นของบรรพชนไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรชนแห่งบ้านบางระจันค่ะ
...จากที่นี่ เราจะข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามของวัดโพธิ์เก้าต้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน ไปชมอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์วีรกรรมอันกล้าหาญของเหล่าผู้กล้าทั้งหลาย ที่ต่อสู้กับทหารพม่าก่อนที่จะเสีย กรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ต่อจาก นั้น ก็ไปชมอาคารศึกษาประวัติศาสตร์วีรชนค่ายบางระจัน ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์การรบแล้ว เราจะยังได้รับความรู้เกี่ยวกับเมืองสิงห์บุรีในด้านอื่นๆอีกด้วยค่ะ
อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน เป็นรูปหล่อประติมากรรมของหัวหน้าชาวค่ายบางระจันจำนวน 11 คน และกระบือ 1 ตัว ซึ่ง แต่ละคนอยู่ในท่าถืออาวุธเตรียมพร้อม
ด้านหน้าอนุสาวรีย์มีรายนามของวีรชนทั้ง 11 คน และเรื่องราววีรกรรมอันกล้าหาญของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน 3 ปีระกา พุทธศักราช 2308 ในครั้งนั้นชาวบ้านบางระจันได้รวมพลังกันต่อสู้กับกองทัพพม่าซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล โดยพม่าต้องยกทัพเข้าตีหมู่บ้านนี้ถึง 8 ครั้ง ใช้เวลากว่า 5 เดือน จึงจะเอาชนะได้
ส่วนอาคารศึกษาประวัติศาสตร์วีรชนค่ายบางระจัน ด้านในเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ แบ่งออกเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องจัดแสดงเรื่องค่ายบางระจัน และห้องจัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองสิงห์บุรีในอดีต
แม้ว่าค่ายบางระจันจะต้องพ่ายแพ้แก่พม่าในท้ายที่สุดก็ตาม แต่วีรกรรมในครั้งนั้น ได้รับการจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์และจิตใจของชาวไทยตลอดมา เป็นตัวอย่างที่ดีแห่งความกล้าหาญ ความเสียสละ และความสามัคคีที่ควรค่าแก่การจดจำตลอดไปค่ะ
...หลังจากได้เยี่ยมชมอุทยานค่ายบางระจันกันแล้วนะคะ มดก็เดินทางต่อไปอีกนิดค่ะ ไปที่อำเภอบางระจัน ตามเส้นทางเลียบขนานไปกับแม่น้ำน้อย ไปดูแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ถือได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยอยุธยา เพราะนอกจากจะผลิตภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆเอาไว้ใช้ภายในประเทศของเราเองแล้ว ที่นี่ยังผลิตออกไปขายต่างประเทศ เป็นสินค้าexport ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกเลยทีเดียวค่ะ
แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ ห่างจากแม่น้ำน้อยประมาณ 200 เมตร ภายในวัดมีองค์พระปรางค์ศิลปะแบบอยุธยาประดิษฐานอยู่
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากหลักฐานที่ปรากฎอยู่พบว่า เตาแม่น้ำน้อยนี้ กระจายตัวตามแนวลำแม่น้ำน้อยตลอดระยะทาง 2 กิโล เมตร และมีจำนวนมาก กว่า 200 เตา แต่ก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และถูกทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การขุดคลองชลประทาน และการก่อสร้างถนน
แต่เมื่อมีการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งเริ่มขึ้นในพุทธศักราช 2531 ตรงบริเวณหน้าวิหารเก่าของวัดพระปรางค์ ก็พบว่ามีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ 3 เนินเชื่อมต่อกัน โดยค้นพบเตา เผาภาชนะดินเผาซ้อนทับกัน 5 เตา เป็นเตาประทุนก่ออิฐขนาดใหญ่ ถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยอยุธยา ระหว่างพุทธศักราช 1914-2310
ผลิตภัณฑ์ครื่องปั้นดินเผาจากเตาแม่น้ำน้อยมีทั้งประเภทเคลือบผิวและไม่เคลือบผิว และทั้งประเภทเครื่องใช้ไม้สอยเช่น ไหสี่หู อ่าง ครก กระปุก แจกัน กาน้ำ และประเภทเครื่องประกอบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมเช่น ช่อฟ้า กระเบื้องเชิงชาย มังกรยักษ์ ตุ๊กตา หรือ ลูกกระสุนดินเผา
นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงการค้นพบภาชนะดินเผาที่เชื่อว่าน่าจะมาจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อยในแหล่งโบราณคดีต่างๆ และตามแหล่งที่เรือจมอยู่ทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแหล่งเตาเผานี้เป็นแหล่งผลิตขนาดใหญ่ที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกอีกด้วยค่ะ
แต่น่าเสียดายเหลือเกินค่ะที่เตาเผาบริเวณนี้ ไม่ได้ผลิตชิ้นงานใดๆมานานนับร้อยปีแล้วล่ะค่ะ สันนิษฐานว่าน่าจะ เป็นผลมาจากการที่ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้รวมตัวกันต่อต้านกองทัพพม่าโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่บ้านบางระจัน พอแพ้สงคราม ก็ถูกกวาดต้อนไปจนหมด เป็นเหตุให้เตาถูกทิ้งร้างไปภายหลังการเสียกรุงครั้งที่สอง ไม่มีการใช้งานอีกเลย นับแต่นั้นมาค่ะ
...และพอเข้าสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองสิงห์บุรีเดิม คือที่อำเภอบางระจันแห่งนี้ ก็ต้องย้ายเมืองไปอยู่ที่ใหม่ค่ะ ที่ตำบลบางพุทรา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะฉะนั้นในครั้งหน้า เราจะไปชมกันค่ะว่าเมืองสิงห์บุรีที่เกิดขึ้นใหม่พร้อมกับการสร้างศาลากลางจังหวัดที่ยังคงมีความสวยงามอยู่จนถึงทุกวันนี้นั้น มีเรื่องราวที่น่าศึกษาเรียนรู้ และน่าค้นหาอย่างไร กันบ้าง
ติดตามชมได้ใน TRAVEL CHOICE อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว ที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณค่ะ
วันที่: Mon Nov 25 11:26:42 ICT 2024
|
|
|