Support
travelchoicetv.com
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

เมืองสิงห์บุรี

info@twoplusone.asia | 20-01-2557 | เปิดดู 3665 | ความคิดเห็น 0

 

เมืองสิงห์บุรี


  

 

ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นนะคะ  มีหลักฐานปรากฎในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เมื่อโปรดให้   มีการจัดการปกครองประเทศเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลแล้ว โปรดให้นำเมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี เข้ามาอยู่ในมณฑลกรุงเก่า และต่อมาในพุทธศักราช 2439 โปรดให้ยุบสามเมืองนี้แล้วตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศตะวันตก ที่ตำบล บางพุทรา และพระราชทานนามใหม่ว่า เมืองสิงห์บุรี  หลังจากนั้น จึงเริ่มมีการก่อสร้างอาคารสถานที่ราชการสำคัญๆขึ้นหลายแห่ง

...ทุกวันนี้ ริมฝั่งเจ้าพระยาในตัวเมืองสิงห์บุรี  เราก็ยังคงพบเห็นสถาปัตยกรรมที่เป็นศิลปะแบบโคโลเนียลอยู่  คือมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ทรงยุโรป หรือที่เรียกกันว่า ทรงปั้นหยา  อย่างที่มดกำลังจะพาไปชมตอนนี้ค่ะ


  

 

อาคารทรงยุโรปที่เห็นอยู่นี้คือ ศาลจังหวัดหลังเก่าค่ะ สร้างขึ้นเมื่อรัตนโกสินทร์ศก 129 หรือ พุทธศักราช 2453 ก่อนสร้างศาลากลางจังหวัดหนึ่งปี  ศาลจังหวัดสิงห์บุรีแห่งนี้แต่เดิมเรียกว่า  "ศาลเมืองสิงห์บุรี"  มีฐานะเป็นศาลหัวเมือง    ที่จัดตั้งขึ้นรวมอยู่ในศาลมณฑลกรุงเก่า  ตัวอาคารศาลเป็นผนังก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ลักษณะเป็นอาคารแบบยุโรปซึ่งร่วมสมัยกับสถาปัตยกรรมที่เมืองฉะเชิงเทรา และเมืองปทุมธานี   ด้านหน้าอาคารตอนบนมีหน้ากระจังและมีตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5  และที่บริเวณด้านหน้านอกตัวอาคาร มีพระอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ขนาดเท่าพระองค์จริง  ทรงยืนฉลองพระองค์ครุยเนติบัณฑิตไทย  พระหัตถ์ซ้ายทรงถือตำรา และต่อมาศาลเมืองสิงห์บุรี ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศาลจังหวัดสิงห์บุรีในพุทธศักราช 2459 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขระเบียบการปกครองและจัดแบ่งส่วนราชการใหม่ ให้เปลี่ยน คำว่า "เมือง" เป็น  "จังหวัด" แทนค่ะ


   

 

แต่ปัจจุบัน อาคารหลังนี้ก็ไม่ได้ใช้เป็นที่ทำการแต่อย่างใดแล้วนะคะ  กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะให้อยู่ในสภาพดี   และประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2532 และให้อยู่ในความดูแลของศาลจังหวัดสิงห์บุรีค่ะ

 

  

 

...และเมื่อเดินต่อไปอีกนิดนึง ก็ถึงแล้วค่ะ ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซึ่งสร้างในอีกหนึ่งปีถัดมา หลังจากการสร้างศาลเมืองสิงห์บุรีได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว


  

 

ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรีหลังนี้ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2454 หลังจากสร้างศาลจังหวัดหนึ่งปี เป็นอาคารชั้นเดียว   ก่ออิฐถือปูนแบบตะวันตก ทรงปั้นหยา มีขนาดกว้าง 15 ห้อง มีมุขกลาง หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ พื้นไม้เนื้อแข็ง  ด้านหน้าอาคารตอนบนมีตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกัน  และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในพุทธศักราช 2533  

 

    

 

ปัจจุบัน อาคารหลังนี้อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ และจัดแสดงนิทรรศการสำคัญๆไว้ภายในอาคารค่ะ

 

 

 

  

 

เสน่ห์ของเมืองสิงห์บุรีอีกอย่างหนึ่งที่มดเห็นก็คือ การตั้งชื่อถนนในเมืองเป็นชื่อวีรชนบ้านบางระจัน อย่างเช่นถนนนายแท่น ถนนนายดอก ถนนนายทองเหม็น ถนนนายเมือง หรือถนนพันเรือง ทำให้ผู้คนทั้งหลายทั้งที่อยู่ที่นี่ก็ดี หรือ ผู้คนที่เป็นนักท่องเที่ยวก็ดี เห็นแล้วรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในเหล่าบรรพชนของคนไทยได้ตลอดเวลาเลยล่ะค่ะ


 

จากการเดินทางของ TRAVEL CHOICE ในทริปนี้  คือตามเส้นทางสาย อ่างทอง – สิงห์บุรี  มดบอกว่าจะต้องพาไปชมวัดพระนอนกันถึง 3 วัด และจะต้องเป็นพระนอนที่มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยอีกด้วย จำได้ใช่มั๊ยคะ ทวนความจำกันนิดนึงนะคะ เราไปชมกันมาแล้ว 2 วัด คือ พระนอนวัดป่าโมกวรวิหาร  และพระนอนวัดขุนอินทประมูล ทั้งสองแห่งนี่  อยู่ในจังหวัดอ่างทองค่ะ  ดังนั้นยังเหลืออีกแห่งนึงค่ะ จะเป็นที่ไหนนั้นไปชมกันค่ะ...


  

 

วัดพระนอนแห่งที่สามที่มดได้มานมัสการก็คือ "วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร" ค่ะ ตั้งอยู่ที่บ้านพระนอน ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดราว 4 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี 

 

  

 

พอเข้าไปในวัดก็จะเจอกับต้นสาละต้นใหญ่มาก ออกดอกบานสะพรั่ง สวยงาม ชาวสิงห์บุรีมีความเชื่อว่าหากมีโอกาสได้มานมัสการวัดพระนอนจักรสีห์ แล้วเดินชมต้นสาละลังกาใหญ่ที่ปลูกไว้กว่าหนึ่งร้อยต้นในวัดแล้วอธิษฐาน จากนั้นปรบมือใต้ต้นสาละ ถ้าดอกสาละร่วงลงมา ก็แสดงว่าคำอธิษฐานนั้นจะประสบผลตามที่หวังไว้ค่ะ


  

 

เดินเข้าไปอีกหน่อย เป็นทางเข้าไปพระวิหารเพื่อนมัสการองค์พระนอนจักรสีห์ รู้สึกทึ่งมากเลยค่ะ เพราะองค์ท่าน  เหลืองอร่าม สว่างไปทั่วพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ ปางโปรดอสุรินทราหู หรือแปลความหมายก็คือ เป็นรูปของพระพุทธเจ้าปางไสยาสน์ เทศนาปาฏิหาริย์แก่อสุรินทราหูผู้เป็นยักษ์ เพื่อลดทิฐิของอสุรินทราหูที่ถือว่ามีร่างกายใหญ่โตกว่ามนุษย์ พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตร่างกายให้ใหญ่กว่ายักษ์ 

 

  

 

  

 

องค์พระสร้างด้วยปูนปั้นลงรักปิดทอง มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยที่มีความงดงามมาก ลักษณะของพระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก พระศอกขวายื่นไปด้านหน้า ไม่ทำงอพระกรตั้งขึ้นรับพระเศียรเหมือนพระพุทธไสยาสน์โดยทั่วไป และถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่และยาวมากอีกองค์หนึ่งของประเทศ คือยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว หรือ  47 เมตร 42 เซนติเมตร

 

 

นอกจากนี้ยังมี พระกาฬ และพระแก้ว เป็นพระพุทธรูปศิลาลงรักปิดทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 และเคยเป็นพระประธานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการในสมัยนั้น อย่างไรก็ตามนะคะ ถึงแม้ประวัติการสร้างวัดพระนอนจักรสีห์แห่งนี้ จะไม่มีการบันทึกเป็นเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน นอกจาก มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมา แต่ก็เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสิงห์บุรีมาช้านานทีเดียวค่ะ...

TRAVEL CHOICE   กับเส้นทางอ่างทอง – สิงห์บุรี ได้สิ้นสุดลงที่นี่แล้วนะคะ แต่ก่อนจากกัน เหมือนเช่นเคยค่ะ มดจะทิ้งท้ายไว้ด้วย ภาพสวยๆจากการเดินทางตามเส้นทางสายนี้กันอีกครั้ง

 

  

  

 

  

 

....และอย่าลืมนะคะว่า TRAVEL CHOICE  เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว ที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณค่ะ

 

 

 

ความคิดเห็น

วันที่: Mon Nov 25 11:45:27 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0