วันนี้ Travel Choice… อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว จะเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเส้นทางใหม่ ที่จะมาเติมเต็มความสุขให้ชีวิตคุณกับ “เขายี่สาร” ชุมชนโบราณ ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
จริงจริงแล้วการเดินทางสู่ชุมชน เขายี่สาร เราสามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง ดังนี้
- ทางรถยนต์ ใช้ถนนพระราม 2 ทางหลวงหมายเลข 35 ตามเส้นทางไปเพชรบุรี ประมาณกิโลเมตรที่ 72 จะเห็นปั้มน้ำมัน ปตท.1 เลี้ยวซ้าย ตามป้ายบอกทางเขายี่สาร ตรงเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร
- รถโดยสาร สามารถเดินทางโดยรถสองแถว สายแม่กลอง คลองตะบูน มีรถออกตลอดวัน จากตัวตลาดในอำเภอเมืองสมุทรสงคราม
- ทางเรือ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ ลงเรือจากฝั่งแม่น้ำบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อล่องเข้าสู่แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยล่องเรือไปตามคลองขุดดอนจั่น เข้าคลองบางลี่หรือคลองประชาชมชื่น ก็จะออกไปสู่บ้านเขายี่สารได้ค่ะ
- หรือลงเรือ ชมบรรยากาศปากน้ำแม่กลอง ทางทะเล โดยลงเรือโดยสารที่ท่าเรือวัดหลวงพ่อบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ล่องเรือดูภูมิประเทศสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ออกสู่ปากอ่าวแม่กลอง แล้วล่องเข้าสู่คลองยี่สาร ชมวิถีชีวิตชาวประมง ป่าชายเลน ตลอดคลองขุดยี่สาร จนเข้าถึงหมู่บ้านเขายี่สารค่ะ
Travel Choice เลือกที่จะลงเรือจากฝั่งแม่น้ำบางตะบูนไปเขายี่สาร เมื่อเริ่มล่องเรือมาก็ได้พบกับการดำรงชีวิตของชาวบางตะบูน อาชีพของคนแถวนี้คือการทำ ฟาร์มหอยแครง หอยแมลงภู่ ฟาร์มปู ฟาร์มกุ้ง และปลากุเลา มีการลากอวนเก็บหอยแครง ซึ่งการเก็บหอยแครงนั้นจะลากอวนสลับวนไปมาอย่างนี้ โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในการเก็บหอยค่ะ ในขณะล่องเรือ เราก็จะเห็นเสาที่ปักกันไว้เป็นแนว เสาเหล่านั้นคือการกั้นอาณาเขต เพื่อให้รู้ว่าเขตนี้เป็นฟาร์มของใคร ส่วนบ้านกลางทะเลก็คือ กระเตงค่ะ ชาวบ้านใช้เป็นที่พักในการเฝ้าฟาร์มของตัวเองและใช้พักในช่วงเวลากลางคืน เพื่อกันการขโมย กุ้งหอยปูปลา ที่ได้เลี้ยงไว้ พอรุ่งเช้าชาวบ้านก็จะกลับเข้าบ้านพักของตัวเอง ส่วนเวลาน้ำขึ้นน้ำลงในช่วงนี้ น้ำจะขึ้นเวลา ตี 1 และลงเวลา 2 โมงเช้า ของทุกวัน
ที่มาของคำว่ากระเตงนั้นก็มาจาก เมื่อทะเลมีคลื่นและลมแรง กระท่อมที่ปลูกไว้ในลักษณะชั่วคราวก็จะมี อาการโยกเยกชาวทะเลเรียกอาการดังกล่าวว่ากระเตง จึงเป็นที่มาของ กระเตงกลางทะเล สมัยก่อนเสาของกระเตงจะเป็นเสาไม้ แต่สมัยนี้เพื่อความมั่งคงของกระเตง ก็ใช้เสาปูนแทน
ล่องเรือไม่นานเราก็จะพบกับ ทุ่นไฟบอกร่องน้ำค่ะ ประโยชน์ของทุ่นไฟก็คือ เพื่อให้เรือแล่นเข้าฝั่งได้อย่างถูกต้องโดยจะมีทุ่นไฟสีแดง ตอนกลางคืนจะมีไฟกะพริบสีแดง หากเรือกำลังแล่นจากทะเลกลับเข้าหาฝั่ง จะต้องแล่นโดยให้ทุ่นไฟแดงอยู่ทางซ้ายมือ นอกจากนี้จะมีทุ่นไฟเขียว และทุ่นไฟเหลือง (หรือไฟขาว) ซึ่งทุ่นไฟเขียวจะอยู่ฝั่งตรงข้ามทุ่นไฟแดง ส่วน ทุ่นไฟเหลืองนั้น จะอยู่ปลายร่องน้ำ และเป็นตัวที่บอกเรือว่าหากแล่นออกจากฝั่งสู่ทะเลแล้ว เมื่อพ้นทุ่นไฟเหลืองไป แสดงว่าเรือได้แล่นพ้นร่องน้ำ สามารถแล่นไปทางไหนก็ได้ เมื่อถึงสามแยกของแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่าทางสามแพร่ง โดยจะแยกออกกันเป็น 3 เส้นทาง ทางซ้ายไปเพชรบุรีขวามือไปยี่สาร อัมพวา และจากเส้นทางที่เรามาไปบางตะบูน โดยเราต้องไปทางขวาของแม่น้ำซึ่งมีชื่อว่า คลองขุด
ที่มาของคำว่า คลองขุด เกิดขึ้นจากการขุดคลองกันเองของชาวบ้านที่สมัยก่อนสามารถก้าวกระโดดจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งได้โดยไม่ต้องใช้เรือ แต่ครั้นกาลเวลาผ่านไป น้ำเริ่มกัดเซาะฝั่งจึงกลายเป็นคลองที่ใหญ่ขึ้น เรือลำใหญ่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ขณะที่เรากำลังจะเข้าเขตเขายี่สาร เราก็จะพบกับ การทำโพงพาง ซึ่งเป็นเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่มีมาช้านานแล้ว ลักษณะเป็นเหมือนถุงชงกาแฟในสมัยโบราณ ที่ปากถุงกว้าง ก้นถุงเล็ก ตัวถุงทำจากอวนหรือไนลอนจะใช้กางขวางแม่น้ำหรือลำคลอง
โดยส่วนใหญ่จะกาง 3 ใน 4 ส่วนของลำน้ำ เพื่อให้เรือสามารถสัญจรไปมาได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ทราบว่า การทำโพงพางในบางตะบูน ตอนนี้ได้โดนรื้อถอนออกไปหมดแล้ว เนื่องจากได้มีการประกาศว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายการจราจรทางน้ำ กางกั้นขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก และส่งผลให้สัตว์น้ำวัยอ่อนสูญพันธุ์ ซึ่งประกาศดังกล่าวทำให้ผู้ที่ทำอาชีพโพงพางได้รับความเดือดร้อน ในขณะที่ฝั่งยี่สาร ยังยืนยันสิทธิ รักษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ของตนในการทำมาหากิน ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน
แล้วตอนนี้เราก็ได้เดินทางมาถึง เขายี่สาร อ.อัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามกันแล้วค่ะ จอดเรือเทียบท่าวัดเขายี่สาร ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของการล่องเรือ แต่เป็นจุดเริ่มต้น ของการค้นหา เรื่องราว ทางประวัติศาสาตร์และวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์และความน่าสนใจ
วันที่: Mon Nov 25 11:58:37 ICT 2024
|
|
|