Support
travelchoicetv.com
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

แหลมผักเบี้ย

info@twoplusone.asia | 08-04-2557 | เปิดดู 2431 | ความคิดเห็น 0

 

 

ทุกก้าวย่างของฉัน ล้วนมีเรื่องราว ต่างที่ ต่างเวลา ต่างความรู้สึก แต่ฉันก็ยังอยากก้าวไป ทิ้งรอยเท้าบนผืนทราย เก็บไว้เพียงความทรงจำ....

 

 

 

วันนี้เราจะมุ่งหน้าไปแหลมผักเบี้ยกันค่ะ    แต่ทำไมต้องแหลมผักเบี้ย TRAVEL CHOICE อีกหนึ่งทางเลือกของการเดินทางมีคำตอบให้คุณค่ะ
ทริปนี้ TRAVEL CHOICE เลือกไปแหลมผักเบี้ยทางเรือคะ  ติดใจจากคราวไปเขายี่สารกับคุณลุงเปลว 

 

แต่ก่อนที่เราจะเริ่มออกเดินทางไปแหลมผักเบี้ย หรือแหลมหลวง  เราเริ่มต้นจากที่นี่กันค่ะธนาคารปู
ที่แหลมผักเบี้ย  มีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมีการทำธนาคารปู โดยการทำกระชังปูม้า ทำจากถังพลาสติก สำหรับใช้เป็นสถานเลี้ยงอนุบาลปูม้า ไว้ห่างจากฝั่งประมาณ 2,000 เมตร เพื่อรับเลี้ยงปูม้าที่มีไขติดอยู่หน้าท้อง ซึ่งชาวประมงในกลุ่มจับมาได้ เพื่ออนุบาล โดยจะใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงไม่เกิน 10 วัน และเมื่อไข่ปูม้าเจริญเติบโตกลายเป็นลูกปูม้าแล้ว ก็จะคืนปูม้าให้แก่สมาชิกที่นำมาให้ เพื่อขายหรือบริโภค

 

ในบางครั้งสมาชิกก็จะไม่ขอรับคืนปูม้า แต่ยกให้กับทางกลุ่ม ซึ่งทางกลุ่มก็จะนำปูม้าที่ได้ไปขายเพื่อนำรายได้มาซื้อปลาทะเล เพื่อเป็นอาหารสำหรับใช้ในการเลี้ยงปูที่อยู่ในกระชัง รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานบริหารกลุ่มต่อไป นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมธนาคารปู ของวิสาหกิจชุมชนแหลมผักเบี้ย ได้ที่ท่าเทียบเรือประมง คลองอีแอด

 

 

ได้เวลาไปชมธรรมชาติ สูดกลิ่นอายทะเล และตามหาทรายเม็ดแรกของอ่าวไทยกันแล้วค่ะ เริ่มกันตรงคลองอีแอดเพื่อไปปลายแหลมผักเบี้ยกันหรือแหลมหลวงกันค่ะ ระยะทางประมาณ  2 กิโลเมตร

 

    

 

ระหว่างทางที่นั่งเรือประมงขนาดเล็กจากปากคลองอีแอดราวครึ่งชั่วโมงนั้น จะเห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนตลอดเส้นทาง 
 

และเห็นวิถีชีวิตของชาวชุมชนที่หลากหลาย มองเห็นชาวบ้านจับหอยแครงเป็นระยะ ใครนึกสนุกจะลงไปร่วมด้วยชาวบ้านเขาก็ยินดีนะค่ะ 
 

ถ้าวันนี้โชคดีจะได้เห็นรอยต่อระหว่างหาดโคลนก้นอ่าวไทยกับหาดทรายและความอุดมสมบูรณ์ของหาดทราย ลองสังเกตดู จะเห็นปลาเล็กปลาน้อย

 

   

 

แหลมผักเบี้ยนี้กลายเป็นแหล่งหากินของนกน้ำหลากชนิดทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพทั้งนกเค้าดิน นกยางกรอกชวา นกหัวโตมลายู นกนางนวล ด้วยคะ

 

แหลมผักเบี้ย น้ำทะเลสวย หาดทรายสะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ อยู่แค่เอื้อมเองค่ะ ว่าแต่ว่า...เรารู้จักผักเบี้ยกันรึเปล่าว่าหน้าตาเป็นยังไง

 

นี่ละคะ “ผักเบี้ย หรือ ผักเบี้ยทะเล”
 

ประโยชน์ของผักเบี้ยทะเล ก็คือ... ทำอาหาร  ที่สำคัญเจ้าผักเบี้ยทะเลมีความสามารถในการกรองน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทะเลค่ะ แถมยังช่วยลดระดับความเค็มในดินได้ด้วย...ไม่ธรรมดาเลยนะเนี่ย...มิน่าล่ะ...ทรายที่นี่ถึงสะอาด...

 

 

หาดทรายแหลมผักเบี้ยแห่งนี้  ถูกชาวบ้านขนานนามให้เป็นจุดชม “ทรายเม็ดแรก” ที่บริสุทธิ์ที่สุดของอ่าวไทย เป็นหาดทรายเนื้อละเอียด เพียงเหยียบลงไปจะรู้สึกถึงความนุ่มเท้าทุกย่างก้าวเลยละคะ

 

 

ตรงปลายแหลมนี้เป็นที่รู้จักกันดีในวงการของนักดูนกค่ะ เหล่านกนานาพันธุ์ต่างออกมาหากินปลาเล็กปลาน้อยบริเวณสันทราย เมื่อรวมกับนกประจำถิ่นอีกนับร้อยชนิด คาดว่าจะมีนกอาศัยหากินอยู่มากกว่า 1 ล้านตัวเลยละค่ะ แต่เมย์ว่าถึงแม้จะไม่มีกล้องถ่ายภาพนก  กล้องส่องนก  แค่เห็นนกก็ตื่นตาตื่นใจแล้วละค่ะ แต่ถ้าใครอยากเก็บภาพเหล่านกนานาพันธุ์ และภาพสวยงามของแหลมผักเบี้ย ก็อย่าลืมพกกล้องถ่ายรูปกันมาด้วยนะค่ะ

 

 

ในจำนวนนี้เป็นนกที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก คือ นกชายเลนปากช้อนและนกทะเลขาเขียวลายจุด รวมทั้งนกน้ำขนาดใหญ่หายากอย่าง นกปากช้อนหน้าดำ ซึ่งมีประชากรเหลืออยู่บนโลกเพียง 970 ตัวเท่านั้น นกใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ พบเห็นได้เป็นประจำในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ซึ่งหาดูได้ไม่ยากในพื้นที่ของตำบลแหลมผักเบี้ยค่ะ 
 

สำหรับทริปนี้เราได้สัมผัสถึงกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนที่ความสำคัญในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างชุมชนวัดเขายี่สาร  เรื่องเล่าของสมเด็จพระเจ้าเสือในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายจากวัดคุ้งตำหนัก  เรื่อยมาจนถึงสมัยธนบุรี ศาลาการเปรียญที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรื้อมาจากอยุธยาเพื่อมาสร้างถวายพระมารดาที่วัดในกลาง

 


เส้นทางของ TRAVEL CHOICE ไม่ได้สิ้นสุดเพียงพระอาทิตย์ตกดินที่นี่ แต่การท่องเที่ยวของเราในวันนี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้อิ่มเอิมกับแสงแดด เสียงคลื่น ละอองน้ำ สูดกลิ่นไอธรรมชาติ น้ำทะเลใส ท้องฟ้าสีสด เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะชาร์ตพลัง กับทางเลือกการท่องเที่ยว ที่เติมเต็ม... ให้คุณ 

อย่าลืมติดตามชม TRAVEL CHOICE อีกหนึ่งทางเลือกของการท่องเที่ยว ที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณ..

 

 

ความคิดเห็น

วันที่: Mon Nov 25 11:36:44 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0