Support
travelchoicetv.com
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

คลองวาฬ - หว้ากอ

info@twoplusone.asia | 21-04-2557 | เปิดดู 1524 | ความคิดเห็น 0

  

 

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน  มีความเป็นมาที่ไม่ชัดเจนนักบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบ  แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเพียงทางผ่านทางการเดินทัพทั้งทัพไทยและทัพพม่า   และเนื่องจากพม่าเดินทางเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งด้วยกันทำให้อาคารบ้านเรือน  หรือสถานที่ทางศาสนาเป็นเพียงการสร้างขึ้นใช้ชั่วคราว เมื่อถูกโจมตีก็สูญหายไปเสียคราวหนึ่ง จึงไม่มีโบราณสถานถาวรใด ๆ เหลืออยู่

 

ถึงแม้คำว่า ประจวบคีรีขันธ์ จะเป็นชื่อเรียกที่มีมานานกว่าร้อยปีแล้วก็ตาม แต่คำว่า คลองวาฬกลับปรากฏนานกว่านั้นซะอีกค่ะ  เพราะเมืองประจวบคีรีขันธ์เป็นการรวมหัวเมืองต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยเมืองบางนางรม เมืองกุยบุรี และเมืองคลองวาฬเข้าเป็นเมืองเดียวกันค่ะ     

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงเดชานุภาพทรงบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่๒ซึ่งพอสรุปความที่เกี่ยวกับเมืองคลองวาฬได้ว่า …  ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้นเมืองคลองวาฬเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญเมืองหนึ่งในจำนวนหัวเมืองปักษ์ใต้ ๒๐ หัวเมือง เช่น เมืองปราณ เมืองกุย  เมืองกำเนิดนพคุณ เป็นต้น เมื่อกองทัพพม่าเคลื่อนทัพเข้ามาทางด่านสิงขรเพื่อจะไปโจมตีกรุงศรีอยุธยา พระคลองวาฬผู้เป็นเจ้าเมืองคลองวาฬก็จะเกณฑ์คนในเมืองคลองวาฬ  ให้ไปช่วยรบสกัดกั้นมิให้กองทัพพม่าผ่านไปโจมตีกรุงศรีอยุธยา... ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ จัดตั้งเขตปกครองใหม่อีกครั้ง โดยการรวม ๓ หัวเมืองที่มีอาณาเขตติดต่อกันคือ เมืองกุยบุรี เมืองบางนางรม และเมืองคลองวาฬ เข้าเป็นหัวเมืองใหญ่ มีชื่อเรียกใหม่ว่า “ประจวบคีรีขันธ์" ส่วนชื่อเรียกหัวเมืองเดิมว่า คลองวาฬ ก็ลดฐานะลงเป็นชื่อเรียก“ตำบลคลองวาฬ" เป็นตำบลหนึ่งของเมืองประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น

 

 

วิ่งมาตามถนนเพชรเกษมนะค่ะ เมื่อเจอทางแยกเลี้ยวเข้าประจวบฯ เราไม่ต้องเลี้ยวนะค่ะ ให้วิ่งเลยมาอีก 10 กิโลเมตร ก็จะเจอทางเลี้ยวขวาเข้าด่านสิงขรค่ะ ให้วิ่งตามเส้นนี้มาประมาณอีก 12 กิโลเมตร เราก็จะถึงด่านสิงขรค่ะ  ด่านสิงขรค่ะ พื้นที่ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะใกล้กับช่องเขาที่ทั้งคนไทยและคนพม่าใช้เป็นหนทางเข้าสู่ดินแดนซึ่งกันและกัน

 

 

เส้นทางข้ามคาบสมุทรช่องสิงขร  เป็นเส้นทางคาบสมุทรที่มีความสำคัญทั้งในด้านการค้าและด้านยุทธศาสตร์ อีกแห่งหนึ่งของคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เป็นเส้นทางระหว่างทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านช่องสิงขรและเมืองตะนาวศรีไปยังเมืองท่ามะริด  บนฝั่งทะเลอันดามัน ที่ปากแม่น้ำตะนาวศรี เป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญในทางการค้าระหว่างประเทศตะวันตกและประเทศ ตะวันออก โดยเฉพาะจีนและอินเดียมายาวนานนับพันปี โดยมีเมืองตะนาวศรีซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำตะนาวศรีเป็นเมืองหลัก บนเส้นทางข้ามคาบสมุทร ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ ๗๐ กิโลเมตร เรือเดินทะเลสามารถเดินทางเข้าออกตามแม่น้ำตะนาวศรี และจอดเทียบท่าได้ที่หน้าเมือง

 

จากหลักฐานทีทมีการบันทึกถึงเรื่องคลองวาฬ  บันทึกไว้ว่าตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา  ยามเมื่อปลอดศึกสงคราม  จะมีพ่อค้าชาวต่างประเทศผ่านพม่าเข้ามาทางด่านสิงขร แล้วมาลงเรือที่เมืองคลองวาฬบ้าง ที่เมืองอู่ตะเภาบ้างอยู่เป็นประจำ เพื่อเดินทางไปติดต่อค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศในยุโรปได้เข้ายึดดินแดนต่างๆ ในบริเวณคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสูญเสียอำนาจทางการเมืองของคนในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในดินแดนคาบสมุทรแห่ง นี้ ส่งผลให้เส้นทางข้ามคาบสมุทรต้องปิดตัวลงแต่ครั้งนั้น จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อญี่ปุ่นยกคนขึ้นบกเข้ายึดเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และเกิด"วีรกรรมอ่าวมะนาว" อันเป็นเหตุการณ์ที่คนไทยลุกขึ้นต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้  หลังจากนั้นญี่ปุ่นได้สร้างถนนยุทธศาสตร์ข้ามคาบสมุทรช่องสิงขรจากฝั่งอ่าวไทย ที่เมืองประจวบคีรีขันธ์ไปยังฝั่งทะเลอันดามันที่เมืองมะริด ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม เส้นทางข้ามคาบสมุทรนี้ก็ปิดตัวลงอีกตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

ปัจจุบันด่านสิงขรเป็น "ด่านปิด" และ เป็นจุดผ่อนปรนสำหรับการค้าขายข้ามแดนเท่านั้น แต่ทางการเมียนมาร์กำลังจะเปิดชายแดนฝั่งตรงข้ามเพื่อเชื่อมกับไทย ที่นี่จะเป็นประตูสู่ตะนาวศรีนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือหมู่เกาะมะริดที่มีชื่อเสียงในทะเลอันดามันของเมียนมาร์    ซึ่งจะเปิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ

 

 

  

 

เมืองคลองวาฬ หรือ ตำบลคลองวาฬ มีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ในพุทธศักราช 2411  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมายังเมืองประจวบคีรีขันธ์ และได้ทรงเสด็จมาที่ตำบลคลองวาฬ เพื่อทรงกล้องทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง พระองค์ได้ทรงคำนวณตามวันเวลาแล้ว และเชื่อมั่นว่าพื้นที่แถบชายทะเลหมู่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬนี้ เป็นจุดทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงคำนวณไว้ทุกประการ

 

หว้ากอ เป็นชื่อหมู่บ้านเล็กๆในตำบลคลองวาฬ  เป็นสถานที่ประวัติ ศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 ซึ่งทรงคำนวนไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี จากเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นทำให้ประชาชนชาวไทยและทั่วโลก ได้ทราบถึงพระอัจฉริยภาพทาง ด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์  จึงถวายพระราชสมัญญานามแด่พระองค์ว่า "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และเป็นที่มาของการสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 

 

 

อาคารดาราศาสตร์และอวกาศนั้น   มีทั้งหมด 3 หลังค่ะ ซึ่งประกอบด้วยอาคารพันทิวาทิตย์ อาคารพันพินิตจันทราและ อาคารดาราทัศนีย์ โดยทั้ง 3 อาคารนะค่ะ มีทั้งหมด 2 ชั้น และมีทางเดินเชื่อมเดินต่อถึงกัน โดยบริเวณด้านหน้าสร้างเลียนแบบหอดูดาวชัชวาลเวียงชัย ในจังหวัดเพชรบุรีค่ะ

 

อาคารแรกคือ อาคารพันทิวาทิตย์ เป็นอาคารที่จัดแสดงนิทรรศการด้านดาราศาสตร์  เรียนรู้ถึงจุดกำเนิดดาวฤกษ์ และสิ้นสุดปลายทางที่กระสวยอวกาศจำลอง เพื่อทดสอบความรู้สึกในอวกาศ

 

ถัดมาเป็นอาคารพันพินิจจันทรา อาคารนี้จะจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับ "พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ทรงประทับยืน ที่หล่อจากไฟเบอร์กลาส และของใช้ส่วนพระองค์ ด้านในเป็นเรื่องราวของดาราศาสตร์ในยุคสมัยต่างๆ เริ่มจากยุคสุโขทัย อยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์

 

 

 

 

 

 

และสุดท้าย คือ อาคารดาราทัศนีย์ แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการและประโยชน์ของดาราศาสตร์ ชั้นบนสุดมีกล้องส่องทางไกล สามารถชมภูมิทัศน์ของหว้ากอ ได้โดยรอบ  เป็นที่ยอมรับกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาราศาสตร์ ทรงมีความเชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์เทียบเท่ากับนักดาราศาสตร์สากล   พระองค์ทรงสถาปนาเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศ  ในปี พ.ศ. 2400 หรือค.ศ.1857

 

 


ประเทศไทยของเราจึงมีเวลามาตรฐานเป็นของตัวเอง คือ เวลามาตรฐานกรุงเทพปานกลาง หรือที่เรียกว่า Bangkok mean time  ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วกว่าที่กรีนิช 6 ชั่วโมง 42 นาที ค่ะ  ในช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ยังไม่มีชาติใดตกลงเรื่องการใช้เวลามาตรฐาน หอดูดาวที่กรีนิช  ประเทศอังกฤษก็ยังไม่มี แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศ  ทรงตรวจวัดความสูงของดวงอาทิตย์และทรงคำนวณทางดาราศาสตร์ทุกวัน  ทรงกำหนดเส้นแวงให้ผ่านจุดหนึ่งในพระบรมมหาราชวังเป็นเส้นแวง 100 องศาตะวันออก ซึ่งในเวลาต่อมาระบบพิกัดนานาชาติ ได้กำหนดว่า กรุงเทพ อยู่ที่เส้นลองติจูด 100 องศาตะวันออก 29 ลิบดา 50 ฟิลิปดา ทรงสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยเป็นอาคารสูง 5 ชั้นขึ้น ณ จุดที่เส้นแวง 100 องศา ตะวันออก ตรงยอดมีนาฬิกา 4 ด้าน เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐาน และโปรดให้ตั้งเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐาน ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ของไทยชุดแรก คือตำแหน่งพันทิวาทิตย์ทำการเทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์   และตำแหน่งพันพินิตจันทรา เทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์  ซึ่งเป็นที่มาของชื่ออาคารพันทิวาทิตย์   พันพินิตจันทรา  ในอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้านี่ละคะ

 

 

ที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าแห่งนี้ นอกจากจะได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทยแล้ว  จะยังได้สัมผัสกับความสวยงามของธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นชายหาดอันกว้างใหญ่ หรือน้ำทะเลที่สะอาด รวมถึงวิวที่สวยงามของหว้ากอที่นี่ค่ะ

 


 

หากใครเดินทางมาที่หว้ากอ ถ้าโชคดี  ตรงบริเวณอ่าวหน้าพิพิธภันฑ์  อาจจะได้พบกับฝูงปลาโลมา ขึ้นมาเล่นน้ำอยู่ตรงหน้าอ่าว ซึ่งเล่ากันว่ามีเคยมีผู้พบเห็น ปลาโลมาฝูงนี้อยู่บ่อยๆ ช่วงเช้าหลังพระอาทิตย์ขึ้นไม่นานค่ะ

 

 

แต่เรายังมีจุดหมายการเดินทางข้างหน้ารอเราอยู่ ข้อมูลบอกว่าเราต้องเดินทางไปเมืองหน้าด่านในการทำศึกสงคราม มาตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงสงครามมหาเอเชียบูรพาเลยล่ะค่ะ


 

ความคิดเห็น

วันที่: Mon Nov 25 11:30:37 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0