จังหวัดสมุทรปราการ หรือที่พวกเรามักเรียกกันจนติดปากว่าเมืองปากน้ำ มีประวัติและอาณาเขตของเมืองสามเมืองรวมกันนั่นก็คือ เมืองพระประแดง เมืองนครเขื่อนขันธ์ และเมืองสมุทรปราการค่ะ ซึ่งล้วนเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางทะเลมาแต่ครั้งอดีต ประวัติศาสตร์ของจังหวัดสมุทรปราการเริ่มต้นขึ้นจากเมืองพระประแดง
เพราะเมืองพระประแดงแต่เดิมนะค่ะ ได้มีชาวขอมก่อตั้งขึ้นมาก่อนค่ะ ในสมัยที่ขอมมีความเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจครอบครองบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในสมัยนั้นทะเลยังลึกเข้ามามากจนจรดในเขตทางใต้ของบางกอก พวกขอมเรียกบริเวณตรงนี้ว่า ปากน้ำพระประแดง และเมื่อตั้งเมืองที่ปากน้ำจึงเรียกว่า เมืองพระประแดงค่ะ
เมืองพระประแดงเป็นเมืองเก่าแก่มีอายุเกือบพันปี แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มสร้างในสมัยกษัตริย์ขอมองค์ใด ในหนังสือเรื่อง 'ภูมิศาสตร์สยาม' ของกระทรวงธรรมการ กล่าวถึงประวัติเมืองพระประแดงไว้ว่า เดิมตั้งอยู่ ริมแม่น้ำพระประแดงฝั่งซ้าย เป็นเมืองปากน้ำตั้งแต่ครั้งขอมเป็นใหญ่ คำว่า 'ประแดง' มาจากภาษาขอมว่า 'บาแดง' แปลว่า คนเดินหมาย คนนำข่าวสาร ซึ่งก็หมายความว่า เมืองพระประแดงเป็นเมืองหน้าด่าน มีหน้าที่ต้องแจ้งข่าวสารไปให้ราชธานีขอมที่ตั้งไว้ที่ลพบุรี หรือละโว้นั่นเอง และยังคงความเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลมาตลอด ในสมัยสุโขทัย และสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น จนได้เริ่มหมดความสำคัญลงเมื่อมีการสร้าง เมืองสมุทรปราการขึ้น ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา ในพุทธศักราช 2123
ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีค่ะ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงให้รื้อกำแพงเมืองเก่าเพื่อเอาอิฐไปสร้างราชธานีที่กรุงธนบุรี เมืองพระประแดงเดิมจึงหาซากไม่พบจนทุกวันนี้ค่ะ
จนกระทั่ง พุทธศักราช 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงริเริ่มพัฒนาเมืองหน้าด่านชายทะเล โดยโปรดให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ที่ ลัดโพธิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงเทพ กับ สมุทรปราการ เพราะเป็นทำเลที่เหมาะ สม แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน การก่อสร้างจึงหยุดชะงักลงต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการก่อสร้างเมืองต่อ ที่ปากลัด โดยตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพบ้าง และแขวงเมืองสมุทรปราการบ้าง มารวมกัน ตั้งขึ้นเป็นเมืองใหม่ แล้วพระราชทานนามว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์และให้ย้ายครอบครัวมอญจากเมืองปทุมธานี ซึ่งมีพญาเจ่งเป็นหัวหน้า พร้อมกับเหล่าชายฉกรรจ์อีก 300 คน ไปอยู่ที่นครเขื่อนขันธ์ และบุตรหลานพระยาเจ่งท่านนี้แหละค่ะ คือต้นสกุล “คชเสนี” ที่เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์มาแล้วถึงเก้าคน
และวันนี้ TRAVEL CHOICE อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว ที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณ จะพาคุณไปชมสถานที่ ที่ยังหลงเหลืออยู่ นับครั้งจากสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มาดูกันค่ะว่าเมย์ จะเลือกไปที่ไหนบ้าง
ที่นี่เป็นที่แรกค่ะ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมปราการที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกับที่มีการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ เมื่อราวพุทธศักราช 2357 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ป้องกันการรุกรานของข้าศึกที่จะรุกล้ำอาณาเขตมาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเข้าสู่พระนคร จริงๆแล้วนะค่ะ มีทั้งหมด 9 ป้อมด้วยกัน แต่ปัจจุบันเหลือแต่เพียงป้อมแผลงไฟฟ้าแห่งนี้เท่านั้นค่ะ
ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริว่า การสร้างป้อมปราการป้องกันข้าศึกจากปากน้ำหลายแห่งตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 นั้นยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี สมควรจะสร้างให้เสร็จเพื่อเป็นด่านป้องกันพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ไปกำกับการก่อสร้างเมืองและป้อมปราการขึ้น เพื่อติดตั้งปืนใหญ่ในการต่อสู้ข้าศึกทางทะเล บริเวณริมแม่น้ำทำลูกทุ่นสายโซ่ขึงขวางแม่น้ำ เวลาปกติก็จะปล่อยให้โซ่จมน้ำไว้เพื่อให้เรือผ่านไปได้ แต่ถ้ามีเรือข้าศึกล้ำเข้ามาก็จะกว้านโซ่ให้ตึงเพื่อกันไม่ให้เรือข้าศึกล่วงล้ำเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยาได้
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้นนะคะ มีการสร้างป้อมปืนบริเวณนี้นับสิบป้อม แต่ก็ถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว เหลือเพียงป้อมแผลงไฟฟ้าแห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ เป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของพระประแดงในอดีตค่ะ
เมย์ เดินจากป้อมแผลงไฟฟ้ามาจนถึงที่นี่ค่ะ คลองลัดหลวง และก็นี่ค่ะชุมชนริมคลอง ยังมีบ้านเรือนเก่าแก่ให้เราได้เห็นเยอะแยะเลยค่ะ
ที่นี่ “วัดทรงธรรมวรวิหาร” ค่ะ Travel Choice เลือกที่จะมาที่นี่ก็เพราะที่แห่งนี้ เป็นวัดมอญเก่าแก่ค่ะ สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครเขื่อนขันธ์ และถือเป็นวัดมอญหรือวัดรามัญแห่งแรกของพระประแดง สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดสังเกตว่าวัดนี้เป็นมอญ ก็คือ พระมหาเจดีย์รามัญ ซึ่งเป้นเจดีย์แบบรามัญแท้อยู่ตรงนี้ล่ะค่ะ
วัดทรงธรรมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ระหว่าง พุทธศักราช 2357 – 2358 สร้างเพื่อให้ชาวมอญในนครเขื่อนขันธ์มีที่บำเพ็ญกุศล เดิมตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่โปรดให้สร้างป้อมเพชรหึงในเขตวัด จึงโปรดให้ย้ายวัดทรงธรรมเข้ามาอยู่ในเขตกำแพงเมืองเมื่อปี.2361 ชาวมอญมักยกย่องผู้มีคุณธรรมโดยกล่าวเป็นภาษารามัญว่า “ซะเมินโท” ซึ่งแปลว่า “ผู้ทรงธรรม” จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดทรงธรรม อีกกระแสหนึ่งกล่าวกันว่า วัดนี้มีชื่อว่าวัดทรงธรรม ก็เพราะมีศาลาทรงธรรม ซึ่งเชื่อว่าเป็นศาลาทรงธรรมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของวัดนี้ก็คือ 'พระมหารามัญเจดีย์' ฐานกว้าง 10 วา 2 ศอก สูง 10 วา 3 ศอก เป็นเจดีย์แบบรามัญแท้ ยอดเจดีย์เป็นฉัตรทองบรรจุพระเครื่องไว้ในองค์เจดีย์ ฐานทั้งสี่มุมล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กแบบรามัญเช่นกัน
สำหรับพระอุโบสถนั้น เดิมเป็นเครื่องไม้ฝากระดาน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการรื้อลงและสร้างใหม่เป็นแบบก่ออิฐถือปูน เสาพระอุโบสถเป็นเสากลมคู่ รับส่วนปีกของชานพระอุโบสถ มีจำนวนทั้งหมด 56 ต้น และช่วงระหว่าง พุทธศักราช 2463-2475 ขณะที่อำเภอพระประแดงยังเป็นจังหวัดอยู่นั้น ทางราชการได้เคยใช้พระอุโบสถหลังนี้เป็นที่กระทำพิธีถือน้ำ พระพิพัฒสัตยาของข้าราชการมาแล้ว
เรายังคงเลือกที่จะค้นหาอดีตของเมืองปากน้ำจากวัดกันต่อนะคะ เนื่องจากวิถีชีวิตของคนไทยมักผูกพันกับสายน้ำและศาสนา... แน่นอนค่ะ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน และวัดจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต
ที่นี่ วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีลักษณะเป็นโบราณสถานที่มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมของชาวต่างชาติเข้ามาด้วย และที่สำคัญ วัดนี้เป็นวัดพุทธไทยเพียงวัดเดียวในย่านพระประแดง เพราะวัดอื่นๆ มักจะเป็นวัดพุทธแบบมอญ หรือพุทธนิกายรามัญแทบทั้งนั้นเลยค่ะ
วัดโปรดเกศเชษฐาราม สร้างขึ้นโดย พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) เมื่อพุทธศักราช 2365 ในสมัยรัชกาลที่ 2 ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดปากคลอง" เพราะอยู่ใกล้กับปากคลองลัดหลวงภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระอุโบสถมุงหลังคาด้วยกระเบื้องมอญเก่า ทรงจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีศิลปะปูนปั้นลายเครือเถาประดับลายคราม ที่สำคัญ ที่นี่มีภาพจิตรกรรมของ 'ขรัวอินโข่ง' ช่างเขียนชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม การเขียนภาพแบบตะวันตกเป็นคนชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม การเขียนภาพแบบตะวันตกเป็นคนแรกๆ และยังมีภาพจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประดับอยู่ภายในพระอุโบสถและพระวิหารอีกด้วยค่ะ
เมย์ มีโอกาสได้สนทนากับพระมหาสุวรรณ ผู้ศึกษาเรื่องราวของโปรดเกศเชษฐาราม และท่านก็จำวัดอยู่ที่วัดโปรดเกศค่ะ หลวงพี่ได้เล่ารายละเอียดของภาพวาดขรัวอินโข่ง เพิ่มเติมให้เมย์ได้ฟังค่ะ ว่า ขรัวอินโข่ง จริงๆ แล้ว จะวาดภาพทั้งหมดแค่ 6 ภาพ ที่เป็นฝีมือของขรัวอินโข่งเอง ในส่วนที่เหลือจะเป็นฝีมือของลูกศิษย์ และ 1 ใน 6 ภาพ นั้นนะค่ะ จะเป็นภาพที่เราเห็นอยู่นั่นล่ะค่ะ เป็นภาพของจริง ตามที่หลวงพี่ได้ศึกษามาในทั้งหมด 6 ภาพ ภาพของขรัวอินโข่ง จะมีลักษณะเป็นภาพที่มีมิติชัดเจน มืด เป็นภาพเหตุการณ์ครึ้มๆ สีจะเข้ม อย่างภาพที่เราได้เห็นนั้นนะค่ะในภาพจะมีม้าวิ่งอยู่ไกลๆ ก็จะวาดม้าตัวเล็กลง แต่ส่วนมากภาพภายในวัดโปรดเกศฯ จะเป็นภาพที่ลูกศิษย์ได้เขียน ซึ่งภาพของลูกศิษย์ขรัวอินโข่งนั้นจะมีต้นแบบคือ โปสการ์ด โดยประมุขชาวคริสต์ที่เข้ามาเข้าเฝ้าล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ในขณะที่พระองค์ครองราชย์ ได้นำโปสการ์ดมาถวายพระองค์ และพระองค์ก็ได้มอบให้ขรัวอินโข่งวาดตามแบบโปสการ์ด ภาพในภายในพระอุโบสถวัดโปรดเกศฯ ก็เน้นการค้าขายในสมัยก่อนเป็นหลักค่ะโบสถ์และวิหารของวัดโปรดเกศค่ะ จะตั้งอยู่แนวเดียวกันมีลานตรงกลางเว้นไว้ แบ่งออกเป็นสามส่วน ซึ่งสามารถหารสามกันได้ลงตัวเท่ากันหมด ถือว่าได้สัดส่วนพอเหมาะพอดี ที่เราเห็นอยู่นั่นไม่ใช่เก้าอี้ไว้นั่งหรือเอาไว้นอนนะค่ะ หลวงพี่บอกว่าที่เราเห็นอยู่นั้นคือที่ตั้ง เครื่องเซ่นและบรวงสรวงสำหรับคนจีนค่ะ หากมีโอกาสได้ไปวัดโปรดเกศฯ อย่าไปเผลอไปนั่งนะค่ะ เดินสนทนากับหลวงพี่จนมาถึงวิหารค่ะ ซึ่งภายในวิหารนะค่ะประดิษฐานพระนอน หากมีโอกาสแวะเวียนผ่านไปวัดโปรดเกศฯ สามารถแวะสักการะได้ในทุกวันเสาร์ อาทิตย์ ส่วนภายในวิหาร ก็ยังมีภาพของขรัวอินโข่งเช่นกัน
นอกจากวัดโปรดเกศที่เมย์ไปมาก่อนหน้านี้แล้วนะคะ ที่พระประแดงยังมีวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นพระอารามหลวงที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เช่นเดียวกัน นั่นก็คือวัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร ถือได้ว่าเป็นวัดพี่วัดน้องกันเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะอยู่ฝั่งตรงข้ามคลองกันเท่านั้น ประวัติของวัดนี้มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 จากหลักฐานนี้ทำให้ทราบว่า วัดนี้ได้สร้างขึ้นใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเสิศหล้านภาลัย โดยกรมหมื่นศักดิพลเสพพร้อมๆกับการขุดคลองปากลัด พอถึงรัชกาลที่ 3 กรมหมื่นศักดิพลเสพ ได้ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทำให้วัดนี้มีความสำคัญมากขึ้น และมีฐานะเป็นพระอารามหลวง คนทั้งหลายจึงมักนิยมเรียกว่า “วัดวังหน้า”
เข้ามาถึงพระอุโบสถของวัดไพชยนต์ เมย์ก็ถึงกับตะลึงค่ะ เพราะภายในพระอุโบสถสวยงามมาก สิ่งที่ชวนสะดุดตาที่สุดภายในพระอุโบสถ ก็คงจะหนีไม่พ้น บุษบกยอดปรางค์จตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ คล้ายคลึงกับพระปรางค์วัดอรุณ ที่สำคัญนะค่ะสามารถถอดออกและประกอบใหม่ได้ทุกชิ้น ส่วนเสาทุกต้นภายในพระอุโบสถจะถูกเจาะรูเอาไว้เพื่อระบายอากาศ ลายของฝาผนังในพระอุโบสถ ก็ได้รับพระราชทานลายมาจากลายจากพระราชวัง ส่วนรอบพระอุโบสถยังมีวิหารน้อยลักษณะทรงจีนอีก 4 หลัง และเจดีย์ อีก 3 องค์ ล้อมรอบอยู่ สวยงามมากจริงๆ ค่ะ
และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามให้ใหม่เป็น “วัดไพชยนต์ พลเสพย์” ตามความหมายที่เกี่ยวข้องกับบุษบก ซึ่งถือเป็น ปูชนียสถานที่สำคัญของวัด บุญบกนี้ทำด้วยไม้สัก มีรูปร่างคล้ายพระปรางค์ มีจัตุรมุข 4 ด้าน ทุกด้านมีพระพุทธรูปหล่อประจำด้านละองค์ องค์บุษบกแกะสลักลวดลายประดับกระจกอย่างวิจิตรงดงาม จัดว่าเป็นศิลปะชั้นเยี่ยมของช่างในสมัยโบราณอีกชั้นหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว
ส่วนลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เห็นได้ชัดเจนคือ พระอุโบสถ และพระวิหาร ที่ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา เป็นแบบทรงจีน มีการประดับตกแต่งหน้าบันด้วยปูนปั้นเป็นรูปทิวทัศน์ผสมกับลายดอกไม้ประดับเครื่องถ้วยชามเคลือบสีสรรสวยงาม และนอกจากพระอุโบสถแล้ว ยังมีวิหารทิศอีก 4 หลัง ลักษณะทรงจีนเหมือนกัน
ไม่น่าเชื่อนะคะ แหล่งผลิตโอโซนอย่างดีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงแม่น้ำกั้นเท่านั้น แค่ข้ามฝั่งเจ้าพระยามาก็จะได้สัมผัสกับบรรยากาศแบบชาวสวนแท้ๆ แต่เป็นสวนที่มีการปรับแต่งสภาพภูมิทัศน์ไว้อย่างสวยงาม มีสะพานไม้ทอดยาวให้เดินชมพื้นที่อันสงบร่มรื่น รวมถึงหอชมวิวสูง 7 เมตร ที่สามารถชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ และใช้เป็นจุดดูนกได้ด้วย ที่เมย์กำลังยืนอยู่นี้ล่ะค่ะ
TRAVEL CHOICE กับนครเขื่อนขันธ์คงจะต้องสิ้นสุดกันที่นี่แล้วนะคะ สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ ศรีนครเขื่อนขันธ์ แต่เรายังคงต้องเดินทางกันต่อเพื่อทำความรู้จักกับสถานที่ที่น่าสนใจแห่งอื่นๆของเมืองปากน้ำหรือเมืองสมุทรปราการซึ่ง TRAVEL CHOICE ได้เลือกให้คุณไว้แล้วค่ะ ครั้งหน้า เราจะพบกันที่ นิวอัมสเตอร์ดัม เมืองท่าของชาวดัตช์แห่งตะวันออก ค่ะ
วันที่: Mon Nov 25 11:45:53 ICT 2024
|
|
|