เยียรบับ
ผ้าที่มาจากต่างประเทศมีอิทธิพลต่อการเรียกชื่อเสื้อผ้าที่ใช้แต่งกายของคนไทย ในสมัยอยุธยามีชาวต่างประเทศเข้ามากันมาก เข้าใจว่าแบบเสื้อของชาวฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกส และก็น่าจะนำมาใช้เป็นแบบกันบ้าง เสื้อที่ใช้เป็นเครื่องแบบและใช้ในงานพระราชพิธี ในสมัยโบราณตามที่ปรากฏในหนังสือวรรณคดีและตำราราชการต่างๆ มีกล่าวถึงและเรียกชื่อตามชนิดของผ้า เช่น เสื้ออัตลัด เสื้อปัศตู เสื้อมัสรู่ เสื้อเยียรบับ ชื่อต่างๆ เหล่านี้ บางชื่อเรียกตามชื่อเมืองและเรียกตามลายหรือชนิดของผ้านั้นๆ
เยียรบับ คือผ้าที่ทอควบกับเส้นไหมเงินทองแบบถี่จนเห็นลายเงินทองมากกว่าไหม คือมีเส้นไหมน้อยกว่าทองแล่ง เป็นผ้าที่ทอยกดอกเงินหรือทอง ผ้าเยียรบับมี 2 ชนิด คือ เยียรบับมีเชิง ใช้เป็นผ้านุ่ง และเยียรบับไม่มีเชิง ใช้สำหรับตัดเสื้อและทำเครื่องใช้ ลายของผ้าเยียรบับก็มีขนาดต่างกันออกไปทั้งดอกใหญ่ดอกเล็กเหมือนผ้ายกชนิดอื่นๆ
คำว่าเยียรบับนี้ เข้าใจว่าเป็นการเพี้ยนมาจากคำดั้งเดิมในภาษาเปอร์เซีย คือ ซารบัฟต์ โดย ซาระ แปลว่า ทอง และ บัฟต์ แปลว่า ทอ หมายถึงผ้าทอยกทอง แต่เรียกแบบคนไทยเรียกว่า ส้าระบับ และเพี้ยนเป็น เยียรบับ ในภายหลัง
วันที่: Mon Nov 25 11:51:14 ICT 2024
|
|
|
|