Support
travelchoicetv.com
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ
 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-07-18 09:19:27.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  เมืองพระประแดง - นครเขื่อนขันธ์

  

                    
 

จังหวัดสมุทรปราการ หรือที่พวกเรามักเรียกกันจนติดปากว่าเมืองปากน้ำ มีประวัติและอาณาเขตของเมืองสามเมืองรวมกันนั่นก็คือ เมืองพระประแดง เมืองนครเขื่อนขันธ์  และเมืองสมุทรปราการค่ะ  ซึ่งล้วนเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางทะเลมาแต่ครั้งอดีต ประวัติศาสตร์ของจังหวัดสมุทรปราการเริ่มต้นขึ้นจากเมืองพระประแดง

เพราะเมืองพระประแดงแต่เดิมนะค่ะ ได้มีชาวขอมก่อตั้งขึ้นมาก่อนค่ะ ในสมัยที่ขอมมีความเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจครอบครองบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในสมัยนั้นทะเลยังลึกเข้ามามากจนจรดในเขตทางใต้ของบางกอก พวกขอมเรียกบริเวณตรงนี้ว่า ปากน้ำพระประแดง และเมื่อตั้งเมืองที่ปากน้ำจึงเรียกว่า เมืองพระประแดงค่ะ

 


 

 

เมืองพระประแดงเป็นเมืองเก่าแก่มีอายุเกือบพันปี แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มสร้างในสมัยกษัตริย์ขอมองค์ใด  ในหนังสือเรื่อง 'ภูมิศาสตร์สยาม' ของกระทรวงธรรมการ กล่าวถึงประวัติเมืองพระประแดงไว้ว่า เดิมตั้งอยู่ ริมแม่น้ำพระประแดงฝั่งซ้าย เป็นเมืองปากน้ำตั้งแต่ครั้งขอมเป็นใหญ่ คำว่า 'ประแดง' มาจากภาษาขอมว่า 'บาแดง' แปลว่า คนเดินหมาย คนนำข่าวสาร ซึ่งก็หมายความว่า เมืองพระประแดงเป็นเมืองหน้าด่าน มีหน้าที่ต้องแจ้งข่าวสารไปให้ราชธานีขอมที่ตั้งไว้ที่ลพบุรี หรือละโว้นั่นเอง  และยังคงความเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลมาตลอด ในสมัยสุโขทัย และสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น จนได้เริ่มหมดความสำคัญลงเมื่อมีการสร้าง เมืองสมุทรปราการขึ้น ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา ในพุทธศักราช 2123

 

ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีค่ะ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงให้รื้อกำแพงเมืองเก่าเพื่อเอาอิฐไปสร้างราชธานีที่กรุงธนบุรี  เมืองพระประแดงเดิมจึงหาซากไม่พบจนทุกวันนี้ค่ะ
 

 

 

จนกระทั่ง พุทธศักราช 2358  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงริเริ่มพัฒนาเมืองหน้าด่านชายทะเล โดยโปรดให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ที่ ลัดโพธิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงเทพ กับ สมุทรปราการ เพราะเป็นทำเลที่เหมาะ สม แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน  การก่อสร้างจึงหยุดชะงักลงต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการก่อสร้างเมืองต่อ ที่ปากลัด โดยตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพบ้าง และแขวงเมืองสมุทรปราการบ้าง มารวมกัน ตั้งขึ้นเป็นเมืองใหม่ แล้วพระราชทานนามว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์และให้ย้ายครอบครัวมอญจากเมืองปทุมธานี ซึ่งมีพญาเจ่งเป็นหัวหน้า พร้อมกับเหล่าชายฉกรรจ์อีก 300 คน ไปอยู่ที่นครเขื่อนขันธ์ และบุตรหลานพระยาเจ่งท่านนี้แหละค่ะ คือต้นสกุล “คชเสนี”  ที่เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์มาแล้วถึงเก้าคน

 

และวันนี้ TRAVEL CHOICE  อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว ที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณ  จะพาคุณไปชมสถานที่ ที่ยังหลงเหลืออยู่ นับครั้งจากสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์  ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มาดูกันค่ะว่าเมย์ จะเลือกไปที่ไหนบ้าง

 

 

 

ที่นี่เป็นที่แรกค่ะ  ป้อมแผลงไฟฟ้า  ป้อมปราการที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกับที่มีการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์  เมื่อราวพุทธศักราช 2357 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ป้องกันการรุกรานของข้าศึกที่จะรุกล้ำอาณาเขตมาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเข้าสู่พระนคร จริงๆแล้วนะค่ะ มีทั้งหมด 9 ป้อมด้วยกัน  แต่ปัจจุบันเหลือแต่เพียงป้อมแผลงไฟฟ้าแห่งนี้เท่านั้นค่ะ

 

 

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริว่า การสร้างป้อมปราการป้องกันข้าศึกจากปากน้ำหลายแห่งตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 นั้นยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี สมควรจะสร้างให้เสร็จเพื่อเป็นด่านป้องกันพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ไปกำกับการก่อสร้างเมืองและป้อมปราการขึ้น เพื่อติดตั้งปืนใหญ่ในการต่อสู้ข้าศึกทางทะเล บริเวณริมแม่น้ำทำลูกทุ่นสายโซ่ขึงขวางแม่น้ำ เวลาปกติก็จะปล่อยให้โซ่จมน้ำไว้เพื่อให้เรือผ่านไปได้ แต่ถ้ามีเรือข้าศึกล้ำเข้ามาก็จะกว้านโซ่ให้ตึงเพื่อกันไม่ให้เรือข้าศึกล่วงล้ำเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยาได้

 

 

 

 

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้นนะคะ มีการสร้างป้อมปืนบริเวณนี้นับสิบป้อม แต่ก็ถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว เหลือเพียงป้อมแผลงไฟฟ้าแห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์  เป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของพระประแดงในอดีตค่ะ

 

  

 

เมย์ เดินจากป้อมแผลงไฟฟ้ามาจนถึงที่นี่ค่ะ  คลองลัดหลวง  และก็นี่ค่ะชุมชนริมคลอง ยังมีบ้านเรือนเก่าแก่ให้เราได้เห็นเยอะแยะเลยค่ะ

 

 

ที่นี่ “วัดทรงธรรมวรวิหาร” ค่ะ  Travel Choice เลือกที่จะมาที่นี่ก็เพราะที่แห่งนี้ เป็นวัดมอญเก่าแก่ค่ะ   สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครเขื่อนขันธ์  และถือเป็นวัดมอญหรือวัดรามัญแห่งแรกของพระประแดง  สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดสังเกตว่าวัดนี้เป็นมอญ ก็คือ พระมหาเจดีย์รามัญ  ซึ่งเป้นเจดีย์แบบรามัญแท้อยู่ตรงนี้ล่ะค่ะ


วัดทรงธรรมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ระหว่าง พุทธศักราช 2357 – 2358  สร้างเพื่อให้ชาวมอญในนครเขื่อนขันธ์มีที่บำเพ็ญกุศล เดิมตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่โปรดให้สร้างป้อมเพชรหึงในเขตวัด จึงโปรดให้ย้ายวัดทรงธรรมเข้ามาอยู่ในเขตกำแพงเมืองเมื่อปี.2361 ชาวมอญมักยกย่องผู้มีคุณธรรมโดยกล่าวเป็นภาษารามัญว่า “ซะเมินโท” ซึ่งแปลว่า   “ผู้ทรงธรรม” จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดทรงธรรม อีกกระแสหนึ่งกล่าวกันว่า วัดนี้มีชื่อว่าวัดทรงธรรม ก็เพราะมีศาลาทรงธรรม   ซึ่งเชื่อว่าเป็นศาลาทรงธรรมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 

 

 

 

สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของวัดนี้ก็คือ  'พระมหารามัญเจดีย์'  ฐานกว้าง 10 วา 2 ศอก  สูง 10 วา 3 ศอก เป็นเจดีย์แบบรามัญแท้ ยอดเจดีย์เป็นฉัตรทองบรรจุพระเครื่องไว้ในองค์เจดีย์   ฐานทั้งสี่มุมล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กแบบรามัญเช่นกัน

 

 

สำหรับพระอุโบสถนั้น เดิมเป็นเครื่องไม้ฝากระดาน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการรื้อลงและสร้างใหม่เป็นแบบก่ออิฐถือปูน เสาพระอุโบสถเป็นเสากลมคู่ รับส่วนปีกของชานพระอุโบสถ  มีจำนวนทั้งหมด 56 ต้น  และช่วงระหว่าง พุทธศักราช 2463-2475 ขณะที่อำเภอพระประแดงยังเป็นจังหวัดอยู่นั้น   ทางราชการได้เคยใช้พระอุโบสถหลังนี้เป็นที่กระทำพิธีถือน้ำ   พระพิพัฒสัตยาของข้าราชการมาแล้ว


เรายังคงเลือกที่จะค้นหาอดีตของเมืองปากน้ำจากวัดกันต่อนะคะ เนื่องจากวิถีชีวิตของคนไทยมักผูกพันกับสายน้ำและศาสนา... แน่นอนค่ะ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน และวัดจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต

 

 

ที่นี่ วัดโปรดเกศเชษฐาราม  เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  มีลักษณะเป็นโบราณสถานที่มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมของชาวต่างชาติเข้ามาด้วย  และที่สำคัญ วัดนี้เป็นวัดพุทธไทยเพียงวัดเดียวในย่านพระประแดง เพราะวัดอื่นๆ มักจะเป็นวัดพุทธแบบมอญ หรือพุทธนิกายรามัญแทบทั้งนั้นเลยค่ะ


 

  

 

วัดโปรดเกศเชษฐาราม สร้างขึ้นโดย พระยาเพชรพิไชย (เกตุ)   เมื่อพุทธศักราช 2365 ในสมัยรัชกาลที่ 2  ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดปากคลอง" เพราะอยู่ใกล้กับปากคลองลัดหลวงภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระอุโบสถมุงหลังคาด้วยกระเบื้องมอญเก่า ทรงจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีศิลปะปูนปั้นลายเครือเถาประดับลายคราม ที่สำคัญ ที่นี่มีภาพจิตรกรรมของ 'ขรัวอินโข่ง' ช่างเขียนชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม การเขียนภาพแบบตะวันตกเป็นคนชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม การเขียนภาพแบบตะวันตกเป็นคนแรกๆ  และยังมีภาพจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประดับอยู่ภายในพระอุโบสถและพระวิหารอีกด้วยค่ะ


เมย์ มีโอกาสได้สนทนากับพระมหาสุวรรณ ผู้ศึกษาเรื่องราวของโปรดเกศเชษฐาราม และท่านก็จำวัดอยู่ที่วัดโปรดเกศค่ะ  หลวงพี่ได้เล่ารายละเอียดของภาพวาดขรัวอินโข่ง เพิ่มเติมให้เมย์ได้ฟังค่ะ ว่า  ขรัวอินโข่ง จริงๆ แล้ว จะวาดภาพทั้งหมดแค่ 6 ภาพ ที่เป็นฝีมือของขรัวอินโข่งเอง ในส่วนที่เหลือจะเป็นฝีมือของลูกศิษย์ และ 1 ใน 6 ภาพ นั้นนะค่ะ  จะเป็นภาพที่เราเห็นอยู่นั่นล่ะค่ะ  เป็นภาพของจริง  ตามที่หลวงพี่ได้ศึกษามาในทั้งหมด 6 ภาพ ภาพของขรัวอินโข่ง จะมีลักษณะเป็นภาพที่มีมิติชัดเจน  มืด  เป็นภาพเหตุการณ์ครึ้มๆ  สีจะเข้ม  อย่างภาพที่เราได้เห็นนั้นนะค่ะในภาพจะมีม้าวิ่งอยู่ไกลๆ  ก็จะวาดม้าตัวเล็กลง  แต่ส่วนมากภาพภายในวัดโปรดเกศฯ จะเป็นภาพที่ลูกศิษย์ได้เขียน  ซึ่งภาพของลูกศิษย์ขรัวอินโข่งนั้นจะมีต้นแบบคือ โปสการ์ด  โดยประมุขชาวคริสต์ที่เข้ามาเข้าเฝ้าล้นเกล้ารัชกาลที่  4 ในขณะที่พระองค์ครองราชย์  ได้นำโปสการ์ดมาถวายพระองค์  และพระองค์ก็ได้มอบให้ขรัวอินโข่งวาดตามแบบโปสการ์ด  ภาพในภายในพระอุโบสถวัดโปรดเกศฯ ก็เน้นการค้าขายในสมัยก่อนเป็นหลักค่ะโบสถ์และวิหารของวัดโปรดเกศค่ะ จะตั้งอยู่แนวเดียวกันมีลานตรงกลางเว้นไว้  แบ่งออกเป็นสามส่วน  ซึ่งสามารถหารสามกันได้ลงตัวเท่ากันหมด ถือว่าได้สัดส่วนพอเหมาะพอดี ที่เราเห็นอยู่นั่นไม่ใช่เก้าอี้ไว้นั่งหรือเอาไว้นอนนะค่ะ  หลวงพี่บอกว่าที่เราเห็นอยู่นั้นคือที่ตั้ง  เครื่องเซ่นและบรวงสรวงสำหรับคนจีนค่ะ หากมีโอกาสได้ไปวัดโปรดเกศฯ อย่าไปเผลอไปนั่งนะค่ะ เดินสนทนากับหลวงพี่จนมาถึงวิหารค่ะ ซึ่งภายในวิหารนะค่ะประดิษฐานพระนอน หากมีโอกาสแวะเวียนผ่านไปวัดโปรดเกศฯ สามารถแวะสักการะได้ในทุกวันเสาร์ อาทิตย์  ส่วนภายในวิหาร  ก็ยังมีภาพของขรัวอินโข่งเช่นกัน 

 

 


นอกจากวัดโปรดเกศที่เมย์ไปมาก่อนหน้านี้แล้วนะคะ  ที่พระประแดงยังมีวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นพระอารามหลวงที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เช่นเดียวกัน  นั่นก็คือวัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร  ถือได้ว่าเป็นวัดพี่วัดน้องกันเลยก็ว่าได้ค่ะ  เพราะอยู่ฝั่งตรงข้ามคลองกันเท่านั้น  ประวัติของวัดนี้มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 จากหลักฐานนี้ทำให้ทราบว่า วัดนี้ได้สร้างขึ้นใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเสิศหล้านภาลัย โดยกรมหมื่นศักดิพลเสพพร้อมๆกับการขุดคลองปากลัด พอถึงรัชกาลที่ 3 กรมหมื่นศักดิพลเสพ ได้ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทำให้วัดนี้มีความสำคัญมากขึ้น และมีฐานะเป็นพระอารามหลวง คนทั้งหลายจึงมักนิยมเรียกว่า “วัดวังหน้า”  
 

 


เข้ามาถึงพระอุโบสถของวัดไพชยนต์ เมย์ก็ถึงกับตะลึงค่ะ เพราะภายในพระอุโบสถสวยงามมาก สิ่งที่ชวนสะดุดตาที่สุดภายในพระอุโบสถ ก็คงจะหนีไม่พ้น บุษบกยอดปรางค์จตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ คล้ายคลึงกับพระปรางค์วัดอรุณ ที่สำคัญนะค่ะสามารถถอดออกและประกอบใหม่ได้ทุกชิ้น ส่วนเสาทุกต้นภายในพระอุโบสถจะถูกเจาะรูเอาไว้เพื่อระบายอากาศ  ลายของฝาผนังในพระอุโบสถ ก็ได้รับพระราชทานลายมาจากลายจากพระราชวัง ส่วนรอบพระอุโบสถยังมีวิหารน้อยลักษณะทรงจีนอีก 4 หลัง และเจดีย์ อีก 3 องค์ ล้อมรอบอยู่ สวยงามมากจริงๆ ค่ะ

 

 

และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามให้ใหม่เป็น “วัดไพชยนต์ พลเสพย์”  ตามความหมายที่เกี่ยวข้องกับบุษบก ซึ่งถือเป็น  ปูชนียสถานที่สำคัญของวัด บุญบกนี้ทำด้วยไม้สัก มีรูปร่างคล้ายพระปรางค์ มีจัตุรมุข  4 ด้าน ทุกด้านมีพระพุทธรูปหล่อประจำด้านละองค์  องค์บุษบกแกะสลักลวดลายประดับกระจกอย่างวิจิตรงดงาม จัดว่าเป็นศิลปะชั้นเยี่ยมของช่างในสมัยโบราณอีกชั้นหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว

 

   

 

ส่วนลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เห็นได้ชัดเจนคือ พระอุโบสถ และพระวิหาร ที่ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา เป็นแบบทรงจีน มีการประดับตกแต่งหน้าบันด้วยปูนปั้นเป็นรูปทิวทัศน์ผสมกับลายดอกไม้ประดับเครื่องถ้วยชามเคลือบสีสรรสวยงาม และนอกจากพระอุโบสถแล้ว ยังมีวิหารทิศอีก 4 หลัง ลักษณะทรงจีนเหมือนกัน

 

 

   

 

   


ไม่น่าเชื่อนะคะ  แหล่งผลิตโอโซนอย่างดีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงแม่น้ำกั้นเท่านั้น แค่ข้ามฝั่งเจ้าพระยามาก็จะได้สัมผัสกับบรรยากาศแบบชาวสวนแท้ๆ  แต่เป็นสวนที่มีการปรับแต่งสภาพภูมิทัศน์ไว้อย่างสวยงาม มีสะพานไม้ทอดยาวให้เดินชมพื้นที่อันสงบร่มรื่น รวมถึงหอชมวิวสูง 7 เมตร ที่สามารถชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ และใช้เป็นจุดดูนกได้ด้วย ที่เมย์กำลังยืนอยู่นี้ล่ะค่ะ

 

 

TRAVEL CHOICE  กับนครเขื่อนขันธ์คงจะต้องสิ้นสุดกันที่นี่แล้วนะคะ  สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ ศรีนครเขื่อนขันธ์  แต่เรายังคงต้องเดินทางกันต่อเพื่อทำความรู้จักกับสถานที่ที่น่าสนใจแห่งอื่นๆของเมืองปากน้ำหรือเมืองสมุทรปราการซึ่ง TRAVEL CHOICE  ได้เลือกให้คุณไว้แล้วค่ะ  ครั้งหน้า เราจะพบกันที่     นิวอัมสเตอร์ดัม เมืองท่าของชาวดัตช์แห่งตะวันออก ค่ะ

 

 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-05-09 10:33:49.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  ระนอง - บ้านหงาว

  

 

ขอต้อนรับสู่ระนอง

 

 

ที่ที่เห็นอยู่ตรงนี้ คือสุสาน หรือที่ฝังศพของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หรือท่าน คอ ซู้เจียง อดีตเจ้าเมืองระนอง  ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในท้องถิ่น เป็นแบบอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งๆ ที่อพยพมาจากประเทศจีน เข้ามาเป็นกรรมกรรับจ้าง จนได้ตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง และเป็น เจ้าเมืองระนองคนแรก ที่มีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาเมืองระนองให้เจริญก้าวหน้า  จนกลายเป็นเมืองชั้นเอกของประเทศเลยล่ะค่ะ

 

 

(ภาพสุสานเจ้าเมืองระนองในอดีต)

 

 

 

สาเหตุที่กลายเป็นเมืองชั้นเอกในสมัยนั้น ก็เพราะสามารถเรียกเก็บภาษีอากร จากการทำกิจการเหมืองแร่ดีบุกได้เป็นอันดับหนึ่งค่ะ  เพราะในช่วงเวลา ที่เมืองระนองมีการเก็บภาษีแบบเหมาเมือง ได้สร้างความเจริญให้ทั้งตัวเมืองระนอง และตระกูล ณ ระนอง ไปพร้อมๆกัน  พร้อมทั้งเงินภาษีผลประโยชน์ที่ส่งให้แก่รัฐบาลก็เพิ่มพูนขึ้นด้วยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หรือคอ ซู้เจียง ปกครองเมืองระนองแบบเหมาเมือง ซึ่งก็หมายถึงการอนุญาตให้เจ้าเมืองเก็บภาษีการทเหมืองแบบผูกขาด โดยท่านปกครองเมืองเป็นเวลาถึง 28 ปี

 

 (เมืองระนองในอดีต)

 

 

(พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หรือคอ ซู้เจียง)

  

 

 

 

 

สุสานแห่งนี้เป็นสุสานแบบจีนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 อยู่บริเวณเชิงเขา หันหน้าไปทางทิศใต้ หน้าสุสานเป็นบริเวณลานกว้างทำด้วยศิลาจากเมืองจีนค่ะ ก่อเขื่อนศิลา ปูศิลาขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนถึงสุสานฝังศพ ด้านหนึ่งมีเสาธงศิลาคู่หนึ่ง แพะคู่หนึ่ง เสือคู่หนึ่ง ม้าคู่หนึ่ง ขุนนางฝ่ายบู๊ ฝ่ายบุ๋นอย่างละคู่

 

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายูในพุทธศักราช 2433  ได้ทรงประทับแรม ที่พลับพลาซึ่งพระยารัตนเศรษฐี  ได้จัดสร้างเป็นที่ประทับไว้บนเนินเขาใจกลางเมือง และทูลขอพระราชทานชื่อ เพื่อจะรักษาไว้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา พระองค์จึงทรงตั้งชื่อพลับพลานี้ว่า “พระที่นั่งรัตนรังสรรค์”
 

 

(พระยารัตนเศรษฐี" (คอมซิมก๊อง))

 

ตามประวัติ "พระราชวังรัตนรังสรรค์" ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2433 โดย "พระยารัตนเศรษฐี" (คอมซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองในขณะนั้น เนื่องด้วยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกเป็นครั้งแรกที่จะได้เสด็จไปถึงเมืองระนองในวันที่ 23-25 เมษายน 2433 พระยารัตนเศรษฐีจึงได้สร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จที่บนเนินควนอัน ตรงกลางเมือง  แต่นานๆครั้งจะเสด็จประพาสเมืองระนองครั้งหนึ่ง จะทิ้งวังไว้เปล่าๆก็จะชำรุดทรุดโทรม รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาติว่า ให้ใช้พระราชวังเป็นศาลารัฐบาลและเป็นที่ทำพิธีสำหรับบ้านเมืองถ้าหากมีการเสด็จประพาสเมื่อใด ก็จะให้จัดเป็นที่ประทับต่อมาองค์พระที่นั่งได้ชำรุดทรุดโทรมลง

 

 

   

(พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่))

ในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่) เจ้าเมืองระนองในขณะนั้น จึงได้ร่วมกับสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตปรับปรุงและดัดแปลงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ใหม่ โดยสร้างเป็นรูปเรือนตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2444 แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางเมืองระนองเรื่อยมาซึ่งนอกจากรัชกาลที่ 5 แล้ว พระมหากษัตริย์อีก 2 พระองค์คือรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ก็ได้ใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับแรมเมื่อครั้งเสด็จประพาสเยี่ยมหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกเช่นกันค่ะ

 

 

 

 

จนกระทั่งปี 2507  องค์พระที่นั่ง ได้ถูกรื้อถอนออก เพื่อสร้างเป็นศาลากลางจังหวัดหลังปัจจุบัน พระที่นั่งรัตนรังสรรค์จึงสูญหายไปจากจังหวัดระนองตั้งแต่นั้น   แต่ก็ยังคงมีร่องรอยเป็นบันไดและบริเวณให้เห็น โดยทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2520
 

 

 

สำหรับพระที่นั่งรัตนรังสรรค์องค์นี้ค่ะ  เป็นพระที่นั่งจำลองที่สร้างขึ้นในปี.2545 อยู่บนเนินเขานิเวศน์คีรี ใกล้เคียงกับบริเวณเดิมค่ะตัวอาคารสร้างด้วยไม้ตะเคียนทองโครงสร้างคอนกรีตสูงสามชั้น ชั้นล่างโล่ง ชั้นที่สองเป็นรูปเหลี่ยมแปดด้าน ปัจจุบันประดิษฐานโต๊ะทรงพระอักษรพร้อมพระเก้าอี้ทำด้วยหนังแท้ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่พระที่นั่งวิมานเมฆพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

 

และพระเก้าอี้ทรงพักผ่อนแกะสลักลวดลายเป็นรูปดอกกุหลาบ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยทรงใช้เป็นที่ประทับและบรรทม ส่วนหลังคาชั้นที่สามทรงปั้นหยา มีดั้งประดับไม้ลวดลายฉลุอย่างสวยงาม
 

 

ส่วนบริเวณชั้นสองมีระเบียงไม้ประดับกันตก สามารถเดินชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ พื้นเฉลียงปูกระเบื้องดินเผา มีหลังคาคลุม ช่องประตูเป็นรูปโค้งทั้งแปดด้าน จากชั้นสองถึงชั้นสาม มีบันไดเวียนภายในขึ้นไปบนชั้นสามซึ่งมีหน้าต่างสามารถชมทัศนียภาพบริเวณหน้าพระที่นั่ง ตัวเมืองระนองด้านทิศตะวันตก ชายแดนประเทศไทยและสหภาพพม่า

 

 

นอกจากนี้ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินบริเวณทะเลอันดามันได้อย่างสวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองระนองด้วยค่ะนอกจากนี้ก็ยังมีหอแปดเหลี่ยมที่มีความสูงประมาณ 17 เมตร คล้ายคลึงกับ หอวิฑูรทัศนา ที่พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสาน คือหลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยประดับเชิงชายไม้ฉลุซ้อนกันอย่างพม่า


นอกจากนี้ พระยารัตนเศรษฐี คอซิมก๊อง ยังได้ทูลขอชื่อพระราชทาน ในส่วนอื่นๆอีกหลายชื่อด้วยค่ะ  นอกจากชื่อพระที่นั่งรัตนรังสรรค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อภูเขา และถนนเส้นต่างๆในเมืองระนองไว้ดังนี้
 

 

นิเวศน์คีรี คือเขาที่เป็นที่ตั้งพลับพลาหรือพระที่นั่งรัตนตังสรรค์ (เดิมพระราชทานชื่อ เป็น “นิเวศคีรี” ภายหลังเขียนเป็น “นิเวศน์คีรี”)
ถนนท่าเรือ คือถนนตั้งแต่ท่าขึ้นมาจนสุดตลาดเก่า ยาวราว 80 เส้นเศษ
ถนนเรืองราษฎร์ คือถนนทำใหม่ตั้งแต่ 3 แยกตลาดเก่าไปตามหน้าบ้านใหม่พระยาระนองถึงสะพานยูง
ถนนชาติเฉลิม คือถนนตั้งแต่สะพานยูงออกไปจนถึงฮวงซุ้ยพระยาดำรงสุจริตฯ (คอซู้เจียง)
ถนนเพิ่มผล คือถนนบ่อน้ำร้อนถึงเหมืองในเมือง
ถนนชลระอุ คือถนนทางไปบ่อน้ำร้อนยาวประมาณ 70 เส้น
ถนนลุวัง คือหน้าวัง
ถนนกำลังทรัพย์ คือถนนโอบรอบๆ ตลาดนัดต่อกับถนนลุวังกับถนนเรืองราษฎร์
ถนนดับคดี คือถนนตั้งแต่ถนนเรืองราษฎร์มาถึงถนนชลระอุ ผ่านหน้าศาลชำระความ
ถนนทวีสินค้า คือถนนที่แยกจากถนนเรืองราษฎร์ลงไปทางริมคลอง
ถนนผาดาษ คือถนนซึ่งพระยาระนอง (คอซิมก๊อง) คิดจะทำออกไปถึงตำบลหินดาดซึ่งเป็นทางโทรเลข และขอพระราชทานชื่อล่วงหน้าไว้

 

 

ที่นี่ภูเขาหญ้าสองสี ค่ะ เป็นภูเขาที่ไม่มีไม้ใหญ่ขึ้น ฤดูฝนจะมีหญ้าสีเขียวขึ้นปกคลุมแนวเขาที่ทอดตัวจากทิศเหนือ สู่ทิศใต้ หญ้าที่ขึ้น ต่างสีต่างวันเวลา และเนินเขางดงาม แต่ก็อย่างที่เห้นค่ะ ช่วงนี้เป้นช่วงน่าแล้ง ทำให้สภาพภูเขาเป็นแบบนี้ล่ะค่ะ

 

การเดินทางในครั้งนี้ทำให้เราได้ค้นคว้าหาคำตอบจากความสงสัยที่ว่า ส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทยอยู่ที่ไหนกันแน่ ระหว่าง ต.คลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์  หรือ ที่คอคอดกระ  จ.ระนอง ซึ่งก็ไม่ใช่ทั้งคู่ค่ะ เพราะส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทย จริงๆ แล้วอยู่ที่ ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ค่ะ

 

แล้วยังทำให้เรารู้จักและซาบซึ้งถึงวีรกรรมความเสียสละของตำรวจ ชาวบ้าน และเด็กนักเรียนชาวชุมพร ที่ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาอธิปไตยของประเทศอย่างกล้าหาญ

 

และที่สำคัญที่สุด การเดนิทางครั้งนี้ บนเส้นทางประจวบ – ชุมพร – ระนอง คือเส้นทางอีกสายหนึ่งที่เต็มไปด้วยความงดงามของธรรมชาติ  วิถีชีวิตผู้คน  รวมทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ชวนให้เดินทางมาค้นหาได้ทุกเมื่อ

 

สำหรับการเดินทางในครั้งหน้า Travel Choice  จะเลือกเส้นทางไหนนั้น อย่าลืมติดตามชมและร่วมเดินทางไปกับ Travel Choice  อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการเดินทาง ที่จะเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณ

 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-04-28 16:01:25.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  ชุมพร - ระนอง

  

หากย้อนกลับก่อนหน้านั้นในราวสมัยอยุธยา  เชื่อกันว่าบริเวณวัดประเดิมเคยแห่งนี้ค่ะ เคยเป็นที่ตั้งของเมืองชุมพรเก่า 

 

  

 

วัดประเดิม ตั้งอยู่ตรงฝั่งซ้ายของ แม่น้ำชุมพรที่ตำบลตากแดดนี่ล่ะค่ะ  ต่อมาย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลท่ายาง และที่ตำบลท่าตะเภาสาเหตุที่ย้ายเมืองบ่อยอาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นเพราะการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำท่าตะเภา และแม่น้ำชุมพร หรือ อาจเป็นเพราะในสมัยอยธุยาเมืองชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านในการทำศึกสงคราม จึงไม่สามารถสร้างบ้านเมืองถาวรได้ ค่ะ

 

  

  

 

ที่วัดนี้มีโบราณสถานสำคัญๆที่ยังพอจะหลงเหลืออยู่อย่าง  พระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสมัยศรีวิชัย  ใบเสมาหินทราย เศียรพระพุทธรูปหินทรายศิลปะศรีวิชัย เศียรพระ พุทธรูปปูนปั้นรูปแบบศิลปะแบบสมัยอยุธยา  ในสมัยก่อนน่าจะมีโบราณวัตถุชนิดต่างๆอยู่ในวัดมากพอสมควร แต่ได้ชำรุดหักพังไปตามกาลเวลาและจากภัยสงครามปัจจุบันโบราณวัตถุต่างๆ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ไม้สอยของชาวบ้านในสมัยก่อน ได้ถูกเก็บรักษาไว้บนพิพิธภัณฑ์วัดประเดิมแห่งนี้ล่ะค่ะ เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหาย หรือถูกลักขโมย

 

 

ที่จังหวัดชุมพรมีเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย เกี่ยวกับสงครามค่ะ  อย่างเช่น การสู้รบอย่างหนักหน่วงในช่วงสมัยของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  ซึ่งทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" ค่ะ

 

 

กับวีรกรรมยุวชนทหาร ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เชิงสะพานท่านางสังข์  ตำบลท่ายางอำเภอเมืองชุมพรค่ะ เรื่องราวของนักเรียน โรงเรียนศรียาภัย ที่ได้ทำการสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใหญ่  จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติยศ ด้วยการสร้างเป็นอนุสาวรีย์ขึ้นที่นี่ค่ะ

 

ยุวชนทหาร  คือ เยาวชนที่ได้รับการฝึกวิชาทหารขึ้นในช่วงระหว่างปี 2477 - 2490 เนื่องจากรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายพื้นฟูการฝึกวิชาทหารให้แก่ประชาชน ดำเนินการโดยกรม ยุวชนทหาร กระทรวงกลาโหม  ในช่วงกลางปี 2482  เกิสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป สงครามได้ลุกลามออกไป มีประเทศต่างๆเข้าร่วมรบมากมาย จนกระทั่งญี่ปุ่นได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี และ อิตาลี ในวันที่ 27 กันยายน  2483  ทำให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกอย่างเต็มตัว ด้วยการยึดดินแดนที่เป็นอาณานิคมของชาติฝ่ายสัมพันธมิตร  โดยชูนโยบาย เอเชียเพื่อชาวเอเชีย  เพื่อสร้างเอเชียให้เป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา

 

 

เช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช  2484 กองทัพญี่ปุ่นได้โจมตีฐานทัพ เพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา และส่งกองทัพไปโจมตีประเทศอื่นๆ ในแถบแปซิฟิก หมู่เกาะต่างๆของอินโดนีเซีย ทะเลจีนใต้ รวมถึงไทยด้วย ในวันเดียวกันนั้น กองทัพญี่ปุ่นได้เคลื่อนกำลังพลเข้าสู่ประเทศไทยทั้งทางบกและทางน้ำ สำหรับทางบกนั้นญี่ปุ่นได้เข้ามาทางพระตะบองและพิบูลสงคราม ส่วนทางน้ำได้เข้ามาทางสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี

 

จากการที่ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังพลขึ้นบกที่ชุมพร  ทำให้เกิดวีรกรรมยุวชนทหาร ซึ่งเป็นการร่วมรบเพื่อปกป้องแผ่นดิน  ณ บริเวณสะพานท่านางสังข์ และที่วัดท่ายางใต้ โดยมี ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน เป็นผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารที่ 52 จัดกำลังยุวชนทหารหลายสิบนายไป ต้านทานกองทัพญี่ปุ่นที่จะเข้ามาทางปากน้ำชุมพร  ผลจาการสู้รบในครั้งนั้น ทำให้ฝ่ายไทยเสียชีวิต จำนวน 6 นาย ในจำนวนนี้เป็นยุวชนทหาร 5 นาย  บาดเจ็บ 5 นาย  ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิต 23 นาย และบาดเจ็บ 7 นาย

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง พุทธศักราช 2491 รัฐบาลได้รื้อฟื้นการฝึกวิชาทหารขึ้นมาใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อจาก กรมยุวชนทหาร เป็น กรมการรักษาดินแดน  และเปลี่ยนชื่อผู้เข้ารับการฝึก จากเดิมยุวชนทหาร เป็น นักศึกษาวิชาทหาร

 


 

และเพื่อระลึกถึงวีรกรรม ของยุวชนทหาร ที่ได้เข้าร่วมกับทหารกองประจำการ ตำรวจและประชาชน ทำการสู้รบ ต่อต้านทหารญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกตามจังหวัดชายทะเลของไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484  ทางราชการ  จึงกำหนดให้วันที่ 8 ธันวาคมของทุกปี เป็น วันยุวชนทหาร หรือวันนักศึกษาวิชาทหาร ในปัจจุบัน

 

 

 

ท่ามกลางความโหดร้ายของสงคราม สถานการณ์ก็สร้างวีรบุรุษให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ตลอดมาค่ะ Travel choice เลือกจะไปต่อกันที่ระนองค่ะ

 

 

 

                                                
ด่านแรกของเมืองระนอง  “ศิลาสลักพระปรมาภิไธย จปร.” ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงจารึกไว้  ครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสโดยขบวนช้างขบวนม้าจากชุมพร มาประทับที่ ตำบลปากจั่น เมื่อปี 2433   เป็นจุดสังเกตว่าเราเข้าเขตเมืองระนองแล้วค่ะ

 

 

ระหว่างเส้นทางสายชุมพร–ระนอง เราจะต้องผ่าน คอคอดกระ  อยู่ระหว่างอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับอำเภอสวี จังหวัดชุมพร  ซึ่งเป็นส่วนแคบที่สุดของแหลมมลายู ในสมัยโบราณเคยเป็นทาง ผ่านสำหรับเดินตัดข้ามมาจากอ่าวไทย ออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิคนั่นเองค่ะ ถ้านับจากระยะทางบนบก คอคอดกระนี้  มีความกว้าง เพียง 44 กิโลเมตรค่ะ

 

 

ความคิดที่จะขุดคอคอดกระ เพื่อเชื่อมสองฝั่งทะเลของไทย คือฝั่งอันดามัน กับฝั่งอ่าวไทย มีขึ้นเป็นครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา   โดยมีเหตุผลหลักที่สำคัญ คือ ต้องการขุดคลองเพื่อความสะดวกรวดเร็วต่อการเคลื่อนกองทัพเรือ จากฝั่งอ่าวไทยไปยังฝั่งอันดามัน เป็นการขยายความเข็มแข็งของราชอาณาจักรในยุคสมัยนั้น   และเพื่อให้การค้ากับต่างประเทศโดยเฉพาะชาติยุโรป ไม่ต้องเสียเวลาเดินเรืออ้อมผ่านทางช่องแคบมะละกา โดยจะสามารถตัดตรงมายังอ่าวไทยมุ่งไปกรุงศรีอยุธยาได้สะดวก แต่พอเมืองมะริดได้ถูกพม่ายึดไป  การขนส่งสินค้าทางบกจากเมืองมะริดเข้ามายังประเทศสยามก็ต้องยุติลง   การขุดคอคอดกระก็เลยไม่เกิดขึ้น ค่ะต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีความคิดที่จะขุดคลองกระขึ้นอีก เพื่อเชื่อมทะเลสาบสงขลา กับมหาสมุทรอินเดีย เพื่อประโยชน์ทางการทหาร แต่ก็ต้องล้มเลิกไป ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง จนกระทั่ง ในพุทธศักราช 2406  สมัยรัชกาลที่ 4  อังกฤษสำรวจพบส่วนที่แคบที่สุดของคอคอดกระ จึงได้เสนอขอพระบรมราชานุญาตดำเนินการขุดคลอง แต่ปรากฎว่าติดสันเขา ขุดลำบากเครื่องมือไม่มี จึงได้ยกเลิก อีกสามปีต่อมา คลองกระเริ่มโด่งดังไปทั่วโลก  เมื่อฝรั่งเศสขอเจรจาเพื่อดำเนินการขุดบ้าง  หลังจากที่สามารถขุดคลองสุเอซสำเร็จ  แต่พระองค์ไม่ทรงอนุญาต  เนื่องจากทรงเกรงจะเสียพระราชอาณาจักร  และเนื่องด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับอังกฤษที่เป็นเจ้าของกิจการท่าเรือในปีนัง และสิงคโปร์  ทำให้โครงการนี้ มีอันต้องล้มเลิกไปอีกเหมือนกันหลังจากสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โครงการขุดคลอง ณ บริเวณ คอคอดกระ ก็กลายเป็นโครงการที่หลายฝ่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศพยายามผลักดันให้มีการนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อ ต้าน เพราะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูง แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ  จึงยังคงเป็นโครงการที่ยืดเยื้ออยู่จนถึงทุกวันนี้

 

คอคอดกระเป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมาลายูค่ะ  แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นส่วนที่แคบที่สุดของประเทศ  เพราะจากการที่เราดูแผนที่แล้วเห็นว่าแคบ  แต่จริงๆแล้วส่วนที่แคบที่สุดของประเทศอยู่ที่จังหวัดตราดค่ะ
 
 

 

 

ที่หมู่ 4 ตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ริมคลองละอุ่น จะมีซากรถไฟโบราณ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่ค่ะ ที่นำซากรถไฟมาตั้งตรงนี้นะค่ะ  เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกว่า ในอดีตเป็นจุดสถานีปลายทางที่ทหารญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อมาจากจังหวัดชุมพร เป็นระยะ ถึง 90 กม. เพื่อใช้ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังปลายทางสถานีเขาฝาชี   ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ะ

เส้นทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี-คลองละอุ่น หรือทางรถไฟสายคอคอดกระนี้  ทหารญี่ปุ่นใช้เป็นเส้นทางรถไฟลำเลียงอยู่ประมาณ 11 เดือน  จนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินพันธมิตรได้ทำการบินโจมตีทิ้งระเบิดทำลายหัวรถจักรทางรถไฟ เรือเสบียง และเรือบรรทุกอาวุธที่รับขนถ่ายจากขบวนรถไฟ ถูกระเบิดจมน้ำที่คลองละอุ่นหลังจากนั้น   เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2488  เครื่องบินพันธมิตรก็ได้ปฏิบัติการทิ้งระเบิด และกราดยิงด้วยปืนกลบริเวณสถานีรถไฟ รางรถไฟสายชุมพร-ละอุ่นซ้ำอีกระลอก ค่ายทหารญี่ปุ่นที่เขาฝาชี จึงได้รับความเสียหายมาก

 

 

เส้นทางรถไฟสายชุมพร-ละอุ่น   เกิดขึ้นพร้อมๆ กับทางรถไฟสายกาญจนบุรีในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาค่ะ  แต่ปรากฏว่ามีคนไทยน้อยมากที่รู้จักเส้นทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี-คลองละอุ่น หรือที่เรียกกันว่า ทางรถไฟสายคอคอดกระ  เพราะก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม  ญี่ปุ่นได้ทำการรื้อถอนทางรถไฟสายนี้ เมื่อสงครามยุติลง สหประชาชาติก็ได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย โดยทหารอังกฤษได้ทำการรื้อทางรถไฟสายนี้ต่อจากญี่ปุ่นออกหมด  ในปัจจุบัน จึงไม่มีทางรถไฟสายนี้ให้เห็น เหมือนกับในจังหวัดจังหวัดกาญจนบุรีค่ะ

 

เราได้รู้ว่าคอคอดกระไม่ใช่ส่วนที่แคบที่สุดของประเทศ  แต่เป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมาลายู  สำหรับส่วนที่แคบที่สุดของประเทศมีความกว้างเพียงแค่ 450 เมตร อยู่บนเส้นทางสายตราด-คลองใหญ่ ต.หาดเล็ก จ.ตราด และทางรถไฟสายคอคอดกระที่เป็นทางรถไฟสายสำคัญในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา คู่แฝดของทางรถไฟสายมรณะกาญจนบุรี  ที่อีกหนึ่ง..ยังคงอยู่ และอีกหนึ่ง...เหลือเพียงชื่อ   หากแต่ถูกรื้อฟื้นขึ้นจากการเดินทางในครั้งนี้ค่ะ

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-04-21 11:11:02.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  คลองวาฬ - หว้ากอ

  

 

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน  มีความเป็นมาที่ไม่ชัดเจนนักบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบ  แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเพียงทางผ่านทางการเดินทัพทั้งทัพไทยและทัพพม่า   และเนื่องจากพม่าเดินทางเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งด้วยกันทำให้อาคารบ้านเรือน  หรือสถานที่ทางศาสนาเป็นเพียงการสร้างขึ้นใช้ชั่วคราว เมื่อถูกโจมตีก็สูญหายไปเสียคราวหนึ่ง จึงไม่มีโบราณสถานถาวรใด ๆ เหลืออยู่

 

ถึงแม้คำว่า ประจวบคีรีขันธ์ จะเป็นชื่อเรียกที่มีมานานกว่าร้อยปีแล้วก็ตาม แต่คำว่า คลองวาฬกลับปรากฏนานกว่านั้นซะอีกค่ะ  เพราะเมืองประจวบคีรีขันธ์เป็นการรวมหัวเมืองต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยเมืองบางนางรม เมืองกุยบุรี และเมืองคลองวาฬเข้าเป็นเมืองเดียวกันค่ะ     

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงเดชานุภาพทรงบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่๒ซึ่งพอสรุปความที่เกี่ยวกับเมืองคลองวาฬได้ว่า …  ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้นเมืองคลองวาฬเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญเมืองหนึ่งในจำนวนหัวเมืองปักษ์ใต้ ๒๐ หัวเมือง เช่น เมืองปราณ เมืองกุย  เมืองกำเนิดนพคุณ เป็นต้น เมื่อกองทัพพม่าเคลื่อนทัพเข้ามาทางด่านสิงขรเพื่อจะไปโจมตีกรุงศรีอยุธยา พระคลองวาฬผู้เป็นเจ้าเมืองคลองวาฬก็จะเกณฑ์คนในเมืองคลองวาฬ  ให้ไปช่วยรบสกัดกั้นมิให้กองทัพพม่าผ่านไปโจมตีกรุงศรีอยุธยา... ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ จัดตั้งเขตปกครองใหม่อีกครั้ง โดยการรวม ๓ หัวเมืองที่มีอาณาเขตติดต่อกันคือ เมืองกุยบุรี เมืองบางนางรม และเมืองคลองวาฬ เข้าเป็นหัวเมืองใหญ่ มีชื่อเรียกใหม่ว่า “ประจวบคีรีขันธ์" ส่วนชื่อเรียกหัวเมืองเดิมว่า คลองวาฬ ก็ลดฐานะลงเป็นชื่อเรียก“ตำบลคลองวาฬ" เป็นตำบลหนึ่งของเมืองประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น

 

 

วิ่งมาตามถนนเพชรเกษมนะค่ะ เมื่อเจอทางแยกเลี้ยวเข้าประจวบฯ เราไม่ต้องเลี้ยวนะค่ะ ให้วิ่งเลยมาอีก 10 กิโลเมตร ก็จะเจอทางเลี้ยวขวาเข้าด่านสิงขรค่ะ ให้วิ่งตามเส้นนี้มาประมาณอีก 12 กิโลเมตร เราก็จะถึงด่านสิงขรค่ะ  ด่านสิงขรค่ะ พื้นที่ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะใกล้กับช่องเขาที่ทั้งคนไทยและคนพม่าใช้เป็นหนทางเข้าสู่ดินแดนซึ่งกันและกัน

 

 

เส้นทางข้ามคาบสมุทรช่องสิงขร  เป็นเส้นทางคาบสมุทรที่มีความสำคัญทั้งในด้านการค้าและด้านยุทธศาสตร์ อีกแห่งหนึ่งของคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เป็นเส้นทางระหว่างทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านช่องสิงขรและเมืองตะนาวศรีไปยังเมืองท่ามะริด  บนฝั่งทะเลอันดามัน ที่ปากแม่น้ำตะนาวศรี เป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญในทางการค้าระหว่างประเทศตะวันตกและประเทศ ตะวันออก โดยเฉพาะจีนและอินเดียมายาวนานนับพันปี โดยมีเมืองตะนาวศรีซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำตะนาวศรีเป็นเมืองหลัก บนเส้นทางข้ามคาบสมุทร ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ ๗๐ กิโลเมตร เรือเดินทะเลสามารถเดินทางเข้าออกตามแม่น้ำตะนาวศรี และจอดเทียบท่าได้ที่หน้าเมือง

 

จากหลักฐานทีทมีการบันทึกถึงเรื่องคลองวาฬ  บันทึกไว้ว่าตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา  ยามเมื่อปลอดศึกสงคราม  จะมีพ่อค้าชาวต่างประเทศผ่านพม่าเข้ามาทางด่านสิงขร แล้วมาลงเรือที่เมืองคลองวาฬบ้าง ที่เมืองอู่ตะเภาบ้างอยู่เป็นประจำ เพื่อเดินทางไปติดต่อค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศในยุโรปได้เข้ายึดดินแดนต่างๆ ในบริเวณคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสูญเสียอำนาจทางการเมืองของคนในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในดินแดนคาบสมุทรแห่ง นี้ ส่งผลให้เส้นทางข้ามคาบสมุทรต้องปิดตัวลงแต่ครั้งนั้น จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อญี่ปุ่นยกคนขึ้นบกเข้ายึดเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และเกิด"วีรกรรมอ่าวมะนาว" อันเป็นเหตุการณ์ที่คนไทยลุกขึ้นต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้  หลังจากนั้นญี่ปุ่นได้สร้างถนนยุทธศาสตร์ข้ามคาบสมุทรช่องสิงขรจากฝั่งอ่าวไทย ที่เมืองประจวบคีรีขันธ์ไปยังฝั่งทะเลอันดามันที่เมืองมะริด ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม เส้นทางข้ามคาบสมุทรนี้ก็ปิดตัวลงอีกตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

ปัจจุบันด่านสิงขรเป็น "ด่านปิด" และ เป็นจุดผ่อนปรนสำหรับการค้าขายข้ามแดนเท่านั้น แต่ทางการเมียนมาร์กำลังจะเปิดชายแดนฝั่งตรงข้ามเพื่อเชื่อมกับไทย ที่นี่จะเป็นประตูสู่ตะนาวศรีนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือหมู่เกาะมะริดที่มีชื่อเสียงในทะเลอันดามันของเมียนมาร์    ซึ่งจะเปิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ

 

 

  

 

เมืองคลองวาฬ หรือ ตำบลคลองวาฬ มีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ในพุทธศักราช 2411  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมายังเมืองประจวบคีรีขันธ์ และได้ทรงเสด็จมาที่ตำบลคลองวาฬ เพื่อทรงกล้องทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง พระองค์ได้ทรงคำนวณตามวันเวลาแล้ว และเชื่อมั่นว่าพื้นที่แถบชายทะเลหมู่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬนี้ เป็นจุดทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงคำนวณไว้ทุกประการ

 

หว้ากอ เป็นชื่อหมู่บ้านเล็กๆในตำบลคลองวาฬ  เป็นสถานที่ประวัติ ศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 ซึ่งทรงคำนวนไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี จากเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นทำให้ประชาชนชาวไทยและทั่วโลก ได้ทราบถึงพระอัจฉริยภาพทาง ด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์  จึงถวายพระราชสมัญญานามแด่พระองค์ว่า "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และเป็นที่มาของการสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 

 

 

อาคารดาราศาสตร์และอวกาศนั้น   มีทั้งหมด 3 หลังค่ะ ซึ่งประกอบด้วยอาคารพันทิวาทิตย์ อาคารพันพินิตจันทราและ อาคารดาราทัศนีย์ โดยทั้ง 3 อาคารนะค่ะ มีทั้งหมด 2 ชั้น และมีทางเดินเชื่อมเดินต่อถึงกัน โดยบริเวณด้านหน้าสร้างเลียนแบบหอดูดาวชัชวาลเวียงชัย ในจังหวัดเพชรบุรีค่ะ

 

อาคารแรกคือ อาคารพันทิวาทิตย์ เป็นอาคารที่จัดแสดงนิทรรศการด้านดาราศาสตร์  เรียนรู้ถึงจุดกำเนิดดาวฤกษ์ และสิ้นสุดปลายทางที่กระสวยอวกาศจำลอง เพื่อทดสอบความรู้สึกในอวกาศ

 

ถัดมาเป็นอาคารพันพินิจจันทรา อาคารนี้จะจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับ "พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ทรงประทับยืน ที่หล่อจากไฟเบอร์กลาส และของใช้ส่วนพระองค์ ด้านในเป็นเรื่องราวของดาราศาสตร์ในยุคสมัยต่างๆ เริ่มจากยุคสุโขทัย อยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์

 

 

 

 

 

 

และสุดท้าย คือ อาคารดาราทัศนีย์ แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการและประโยชน์ของดาราศาสตร์ ชั้นบนสุดมีกล้องส่องทางไกล สามารถชมภูมิทัศน์ของหว้ากอ ได้โดยรอบ  เป็นที่ยอมรับกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาราศาสตร์ ทรงมีความเชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์เทียบเท่ากับนักดาราศาสตร์สากล   พระองค์ทรงสถาปนาเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศ  ในปี พ.ศ. 2400 หรือค.ศ.1857

 

 


ประเทศไทยของเราจึงมีเวลามาตรฐานเป็นของตัวเอง คือ เวลามาตรฐานกรุงเทพปานกลาง หรือที่เรียกว่า Bangkok mean time  ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วกว่าที่กรีนิช 6 ชั่วโมง 42 นาที ค่ะ  ในช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ยังไม่มีชาติใดตกลงเรื่องการใช้เวลามาตรฐาน หอดูดาวที่กรีนิช  ประเทศอังกฤษก็ยังไม่มี แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศ  ทรงตรวจวัดความสูงของดวงอาทิตย์และทรงคำนวณทางดาราศาสตร์ทุกวัน  ทรงกำหนดเส้นแวงให้ผ่านจุดหนึ่งในพระบรมมหาราชวังเป็นเส้นแวง 100 องศาตะวันออก ซึ่งในเวลาต่อมาระบบพิกัดนานาชาติ ได้กำหนดว่า กรุงเทพ อยู่ที่เส้นลองติจูด 100 องศาตะวันออก 29 ลิบดา 50 ฟิลิปดา ทรงสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยเป็นอาคารสูง 5 ชั้นขึ้น ณ จุดที่เส้นแวง 100 องศา ตะวันออก ตรงยอดมีนาฬิกา 4 ด้าน เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐาน และโปรดให้ตั้งเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐาน ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ของไทยชุดแรก คือตำแหน่งพันทิวาทิตย์ทำการเทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์   และตำแหน่งพันพินิตจันทรา เทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์  ซึ่งเป็นที่มาของชื่ออาคารพันทิวาทิตย์   พันพินิตจันทรา  ในอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้านี่ละคะ

 

 

ที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าแห่งนี้ นอกจากจะได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทยแล้ว  จะยังได้สัมผัสกับความสวยงามของธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นชายหาดอันกว้างใหญ่ หรือน้ำทะเลที่สะอาด รวมถึงวิวที่สวยงามของหว้ากอที่นี่ค่ะ

 


 

หากใครเดินทางมาที่หว้ากอ ถ้าโชคดี  ตรงบริเวณอ่าวหน้าพิพิธภันฑ์  อาจจะได้พบกับฝูงปลาโลมา ขึ้นมาเล่นน้ำอยู่ตรงหน้าอ่าว ซึ่งเล่ากันว่ามีเคยมีผู้พบเห็น ปลาโลมาฝูงนี้อยู่บ่อยๆ ช่วงเช้าหลังพระอาทิตย์ขึ้นไม่นานค่ะ

 

 

แต่เรายังมีจุดหมายการเดินทางข้างหน้ารอเราอยู่ ข้อมูลบอกว่าเราต้องเดินทางไปเมืองหน้าด่านในการทำศึกสงคราม มาตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงสงครามมหาเอเชียบูรพาเลยล่ะค่ะ


 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-04-18 13:43:23.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  อ่าวประจวบ - อ่าวมะนาว

 

 

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าอ่าวที่สวยงามที่นี่จะผ่านสรมรภูมิรบมาแล้ว แต่อันดับแรกมากับ  Travel Choice  ก็ต้องตามหาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของที่นี่กันก่อนล่ะค่ะ เมย์มีข้อมูลมาเพียบ  แล้วก็เลือกที่จะเริ่มต้นที่นี่ค่ะ  ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี่ มีชายหาดยาวตลอดทั้งจังหวัดเลยล่ะค่ะ ตั้งแต่อำเภอหัวหิน จนถึงอำเภอบางสะพานน้อย แล้วก็ในอำเภอเมือง ลักษณะเด่นของที่นี่คือ ชายหาดที่ยาวมากเลยล่ะค่ะ  อ่าวที่ถือเป็น Land mark ของประจวบมีสามอ่าวคือ อ่าวน้อย อ่าวประจวบ และอ่าวมะนาว ก็เลยกลายเป็นที่มาของการเรียกว่าเมือง  3 อ่าว

 

โดยเฉพาะอ่าวประจวบที่มีความยาวถึง 8 กิโลเมตร และด้วยความยาวของอ่าวประจวบนี้เองทำให้พบเห็นความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่หลากหลายของชุมชนในพื้นที่  ที่ประจวบแห่งนี้นะค่ะ ยังมีชุมชนเกาะหลัก เป็นชุมชนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในอดีตเป็นศูนย์กลางการปกครองเมืองประจวบคีรีขันธ์  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ค่ะ
 

สถานีวัดระดับน้ำเกาะหลักถือเป็นสถานีวัดระดับน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทยเลยล่ะค่ะ    เพราะนอกจากจะนำข้อมูลมาใช้คำนวณหาระดับทะเลปานกลาง เพื่อเป็นพื้นเกณฑ์ระดับของประเทศแล้วยังเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นงานระดับน้ำของไทย มาตั้งแต่ ปี 2453...  นับถึงตอนนี้ก็...ร้อยกว่าปีแล้วค่ะ  สถานีวัดระดับน้ำเกาะหลักเป็นสถานีวัดระดับน้ำที่มีข้อมูลต่อเนื่องยาวนานที่สุด   จึงเหมาะสำหรับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ ทะเลในระยะยาวต่อไป  
 

 

 

เราขยับจากอ่าวประจวบมาอยู่ที่อ่าวมะนาวในเขตกองบิน 5 กองทัพอากาศค่ะ   ตรงข้ามกับหาด  เป็นเขาล้อมหมวก ช่วงที่น้ำลดจะเห็นสันทรายทอดยาว สามารถเดินลงไปถึงเขาล้อมหมวกได้เลย  ที่ที่เคยเป็นยุทธภูมิรบที่สำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพญี่ปุ่นค่ะ
 

 

 

 

ภายในกองบิน 5 มี พิพิธภัณฑ์อุทยานประวัติศาสตร์ บน.5 ประกอบด้วยอาคาร 3 หลังค่ะ โดยเริ่มจากอาคารแรก  อาคารพิพิธภัณฑ์ หลังที่ 1 อาคารพิพิธนิทัศน์ เป็นการจำลองพื้นที่อาณาเขตภายใน บน.๕ ทิศเหนือจรดอ่าวประจวบทิศใต้จรดอ่าวมะนาว ทิศตะวันออกจรดเขาล้อมหมวก และทิศตะวันตก จรดเส้นทางรถไฟ รวมถึงหน้าต่างมหัศจรรย์..การแสดง แสง สี เสียงจำลองเหตุการณ์การสู้รบ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484  แสดงอากาศยานต่าง ๆ และวิวัฒนาการของกองบิน 5

 

  

 

เมย์มีโอกาสได้พบกับน้องคิงส์ มัคคุเทศน์น้อย ที่จะมาให้ข้อมูลคร่าวๆ ของกองบิน 5 กับเราค่ะ  น้องคิงส์บอกว่าจุดแรกที่เราเห็นก็คือจุดลงนามสงบศึกค่ะ  เป็นเหล็กเส้น อยู่ใต้ต้นข่อย หลังจากยุติสงครามทหารอากาศไทยกับทหารญี่ปุ่น ได้ยืนหันหน้าเข้าหากันและจับมือแลกดาบกัน ส่วนด้านหน้าก็คือแท่นหินแกะสลักเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 

 

 

ด้านข้างของกองบินคือ เขาล้อมหมวกค่ะ จะมีศาลเจ้าพ่อเขาล้อมหมวก และค่างแว่นมากมายใครมีโอกาสไปกองบิน 5 ก็อย่าลืมให้อาหารน้องค่างแว่นกันนะค่ะ ส่วนซ้ายมือของเมย์ คือสุสานจำลองค่ะ ส่วนสุสานจริงจะมีรั้วล้อมรอบและมีศาลตั้งอยู่ตรงกลาง สมัยก่อนได้ขุดสุสานเป็น 2 หลุม หลุมละ 21 จากจำนวนผู้เสียชีวิต 42 คน ต่อมาได้นำไปประกอบพิธีทางศาสนาและนำอัฐิมาไว้ที่อนุสาวรีย์วีรชน รูปปั้นนักบินถือธงชัยเฉลิมพล เหยียบอยู่บนใบพัดเครื่องบิน 

 

 

มองออกไปก็เป็นทะเลซึ่งจะมีเกาะต่างๆ ตั้งอยู่ 3 เกาะ  น้องคิงส์บอกว่าช่วงน้ำลดทั้ง 3 เกาะ สามารถเดินหากันได้  ไหนๆ ก็มาถึงกองบิน 5 แล้ว ก็ต้องไปลองชมเกาะทั้ง 3 ซะหน่อยค่ะว่าจะสวยขนาดไหน   ว่าแล้วก็ลุยกันเลยดีกว่าค่ะ  เริ่มจากเกาะแรกค่ะ เกาะสูงๆ แหลมๆ เรียกว่าเกาะหลักค่ะ จะมีเครื่องวัดระดับน้ำทะเลปานกลางประเทศไทยตั้งอยู่  เกาะต่อมาค่ะชื่อว่าเกาะไหหลำ ที่เกาะไหหลำจะมีศาลกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ตั้งอยู่หลังคาสีแดง ถัดมาคือเกาะร่มค่ะ จะมีหมู่เกาะชื่อว่าเกาะแรด ที่เกาะแรดจะเป็นเขตควบคุมของทหารเรือ ระหว่างทางที่เดินไปทั้ง 3 เกาะ เราก็จะเห็นสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ขึ้นมาแหวกว่ายหาอาหารกัน  เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่าทะเลแหวกค่ะ สวยงามจริงๆ ค่ะ ใครได้มาเยือนกองบิน 5 อย่าลืมมาเดินชมทะเลแหวกกันนะค่ะ

 

 

กองบิน 5 อาจจะต่างไปจากเขตทหารที่อื่น คือที่นี่ไม่ใช่สนามฝึกซ้อมรบ แต่ที่นี่คือสมรภูมิที่เคยผ่านการรบจริงๆ มาแล้วค่ะ   เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้น ประเทศไทยคือ หนึ่งในที่หมายของการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น เพื่อไปโจมตีทหารอังกฤษในพม่าและมลายู  กองบิน 5  หรือชื่อในอดีตคือ กองบินน้อยที่ 5 ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทหารญี่ปุ่นได้มาแอบซุ่มยกพลขึ้นบกและเข้ายึดพื้นที่ ทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง โดยที่กำลังพลของกองบิน 5 มีประมาณ 120 คน ส่วนกำลังพลทหารญี่ปุ่นมีประมาณ 3,000คน ภายหลังการสู้รบ ฝ่ายทหารญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังมากกว่า เสียชีวิต 417 คน   ในขณะที่ฝ่ายไทยเสียชีวิต 42 คน ซึ่งเป็นทหารอากาศ 38 คน ตำรวจ 1 คน ยุวชนทหาร 1 คน และครอบครัวทหาร 2 คน    เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติอันกล้าหาญของนักรบแห่งกองบินน้อยที่ 5 และวีรชนชาวประจวบฯ ทางราชการจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ "วีรชน 8 ธ.ค.2484" ที่บริเวณกองบิน 5  และมีการจัดงานรำลึกวีรกรรมของผู้กล้าทุกวันที่ 8 ธ.ค.ของทุกปี

 

ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ หลังที่ 2  มีชื่อว่าอาคารประวัติสงคราม

โดยห้องแรกเป็นห้องของการอุบัติการณ์และศึกใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในส่วนนี้นะค่ะ  จะเล่าเรื่องของการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2  ซึ่งสาเหตุเกิดจากความขัดแย้งในยุโรป จนเกิดเป็นสงครามโดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายอักษะมีเยอรมันและอิตาลีร่วมมือกันและฝ่ายสัมพันธมิตรมีอังกฤษและฝรั่งเศสร่วมมือกัน การสงครามเกิดขึ้ยหลายพื้นที่ทั่วยุโรปและประเทศอาณานิคม 
 

 

ในขณะที่ยุโรปกำลังขาดความสงบนั้น ในเอเชียเองญี่ปุ่นก็เริ่มกระจายกำลังออกสู่พื้นที่ต่างๆ เกือบทุกประเทศในเอเชียทั้งจีน เกาหลี อินโดนีเซีย ไทย ลาว เวียดนาม สิงค์โปร์ มาเลเซียและพยายามที่จะเข้าสู่พม่าให้ได้ จึงเกิดสงครามในซีกโลกตะวันออกบ้างเรียกว่า สงครามมหาเอเชียบูรพาค่ะส่วนห้องถัดมาคือห้องชีวิตทหารไทยในไฟสงคราม

 

อาคารหลังนี้นะค่ะในอดีตเคยเป็นเรือนพักของนายทหารชั้นสัญญาบัตรค่ะ ในช่วงที่เกิดสงคราม ชีวิตทหารไทยที่ประจำการอยู่ที่อ่าวมะนาวนั้นก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่อย่างเข้มแข็ง แม้ว่าจะยังไม่มีการสู้รบใดๆ แต่ก็พยายามฟังข่าวตลอดเวลา ความเป็นอยู่ของทหารไทยก็สื่อออกมาเป็นภาพจำลองของการอยู่การกินของครอบครัวทหาร   รวมไปถึงห้องที่เก็บอาวุธยุทโธปกรณ์   

 

          
 

ต่อกันด้วยห้องถัดไปค่ะ คือห้องการเจรจาขอผ่านแดน ห้องนี้นะค่ะได้น้องควีน มัคคุเทศน์น้อยพาเดินชมและให้ข้อมูลกันค่ะ  ห้องการเจรจาขอผ่านแดนเป็นการเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ในขณะที่กรุงเทพมหานครกำลังมีงานรื่นเริงเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญอยู่ มีทั้งเครื่องไฟสวยงามและการประกวดสาวงาม นางสาวสยาม ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศทหารญี่ปุ่นที่แฝงตัวมาอยู่ในคราบของช่างถ่ายภาพ หมอฟัน มาขายของฯลฯ ก็กลายสภาพเป็นนายทหารสายลับที่เข้ามาสืบข่าวพากองทัพทหารญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกในบริเวณอ่าวไทยถึง 7 จุด ตั้งแต่ชายฝั่งประจวบ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ในช่วงเวลาที่คนไทยกำลังหลับไหล การต่อสู้ต่อต้านของทหารไทยต่อทหารญี่ปุ่นเกิดขึ้นในทันทีที่รู้ตัว

 

 

จนช่วงเวลา 13.00 น. ของวันที่ 9 ธันวาคม 2484 จึงได้มีการหยุดยิงเพราะมีคำสั่งมาจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้หยุดการต่อสู้ หลังจากนั้นก็มีการเจรจากับแม่ทัพนายทหารญี่ปุ่น ในห้องนี้จะจัดภาพไว้สองข้างทางเดินเป็นการเปรียบเทียบให้เห็น 2 เหตุการณ์ 2 สถานที่ ในวันเวลาเดียวกัน 
 

 

ต่อด้วยในส่วนของห้องเกียรติภูมิผู้กล้า เป็นห้องที่มีการบรรยายพร้อมจำลองเหตุการณ์จริงว่า ในเช้าของวันที่ 8 ธันวาคม2484 นั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างค่ะ โดยจำลองร่องรอยของกระสุนที่ถูกยิงสวนมาจากท้องทะเลโดยทหารญี่ปุ่น  ระหว่างการต่อสู้ก่อนมีการเจรจาหยุดยิงและเสนอภาพของความสูญเสียให้เห็นว่าสงครามทำให้เกิดความเสียหายและความเจ็บปวดแก่ประชาชนทุกชนชาติไม่ว่าที่ไหนก็ตามส่วนสุดท้ายของการจัดแสดงในอาคารนี้ คือห้อง สู่สันติภาพ ค่ะ

 

 

ความสูญเสียนำมาซึ่งความสงบสุข สันติภาพ ที่แลกมาด้วยชีวิติ คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง และสงครามอันโหดร้าย จากนี้ไปขอให้สันติได้บังเกิดขึ้นสร้างความรักและความกลมเกลียวในหัวใจทุกดวง เพื่อไม่ให้คราบน้ำตาปรากฎณ์บนใบหน้าของผู้ที่อยู่เบื้องหลังอีกต่อไป เรามาร่วมสดุดีให้กับวีรชนผู้กล้าของของเรากันค่ะ

 

 

อ่าวมะนาวทุกวันนี้ยังคงเป็นที่ตั้งของกองบินกองทัพอากาศโดยเปลี่ยนชื่อเป็นกองบินที่ 5  สถานที่สำคัญครั้งประวัติศาสตร์  ที่เกิดขึ้นเมื่อตอนเช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม 2484  ทุกแห่งยังคงอยู่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาล้อมหมวกแห่งนี้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่นายทหารทุกนายได้ตัดสินใจเตรียมกระสุนนัดสุดท้ายไว้สำหรับตนเอง

 


แต่กระสุนนัดสุดท้ายนั้น ก็ไม่ได้ถูกใช้งาน  เพราะได้รับคำสั่งหยุดยิงจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นว่า รัฐบาลไทยได้ยินยอมให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยแล้ว การรบจึงยุติลง ก่อนที่จะต้องมีการสูญเสียไปมากกว่านี้ สงครามมหาเอเชียบูรพาที่อ่าวมะนาว จบลง ณ ที่แห่งนี้  เพียงแค่เราเลือกที่จะลืมหรือเลือกที่จะจำค่ะ  

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-04-17 13:25:39.0     Forum: ศัพทานุกรมศิลปวัฒนธรรมสยาม  >  บายศรี

 

บายศรี


 

คนไทยเชื่อว่า ขวัญ เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่มีตัวตนและอยู่ประจำชีวิตคนเรามาตั้งแต่เกิด ทำให้เจ้าของขวัญอยู่เย็นเป็นสุข มีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง หากขวัญหนีหายไปก็จะทำให้เจ้าของขวัญเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย จะต้องทำพิธีเรียกขวัญให้กลับคืนมาสู่เจ้าของโดยเร็ว เรียกว่าพิธีสู่ขวัญ 

 

  

  

บายศรี มาจากคำ 2 คำ คือ บาย มาจากภาษาเขมร แปลว่า ข้าวสุก  และภาษาอีสาน แปลว่า การจับต้องสัมผัส  ส่วนคำว่า ศรี เป็นคำภาษาสันสกฤต ตรงกับคำภาษาบาลี ว่า สิริ แปลว่า สิ่งที่ดีงาม มิ่งขวัญ

 

 

การทำพิธีกรรมด้วย บายศรี เป็นคติของพราหมณ์   เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตย์ของพระอิศวร ส่วนชั้นของบายศรีเป็นที่รวมของเทพต่างๆ  อาหารที่ใส่ในบายศรีมักจะมีความหมายไปทางปริศนาธรรมเช่น กล้วยน้ำว้า 3 ลูก หมายความถึงภพ 3 ภพ คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก

 

 

ปัจจุบันการทำบายศรีสู่ขวัญก็ยังคงมีอยู่ ถือได้ว่าเป็นการสืบสานประเพณีและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดให้คงอยู่สืบไป

 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-04-09 17:15:18.0     Forum: ศัพทานุกรมศิลปวัฒนธรรมสยาม  >  เรือนยอด

 
เรือนยอด

 

  

 

ในงานสถาปัตยกรรมไทยมักจะมีความผูกพันกับศาสนาเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้จากการสร้างศาสนสถาน เพื่อเป็นพุทธบูชาและเทวบูชา ดังนั้นการออกแบบจึงเน้นรูปร่างลักษณะที่สูงเด่นกว่าอาคารอื่น ๆ ทำให้เกิดลักษณะของสถาปัตยกรรมที่มีหลังคาทรงสูง

 

 

เรือนยอด  มาจากคำเดิมในภาษาสันสกฤตว่า  กุฎาคาร (กุ-ดา-คาน) สำหรับเรือนยอดในสถาปัตยกรรมไทยนั้นหมายถึงอาคารที่มีหลังคาทรงสูง  โดยเฉพาะเป็นอาคารที่ใช้ในกิจที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระศาสนา  ซึ่งอาคารที่เรียกว่า เรือนยอด จะมีทรงหลังคาในรูปแบบดังนี้

 

 

- ลังคายอดมณฑป  ตัวอย่างเช่น  มณฑปหอไตรวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

  

 

- หลังคายอดปรางค์  ตัวอย่างเช่น  พระเวชยันต์วิเชียรปราสาท  พระที่นั่งปราโมทย์มไหศวรรย์  จังหวัดเพชรบุรี

- หลังคายอดปราสาท มี 2 รูปแบบคือ

 

 

    ยอดมณฑปผสมจัตุรมุข  หรือเรียกว่าปราสาทยอด  ตัวอย่างเช่น  พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท               

                                        

 

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

 

 

   ยอดปรางค์ผสมจัตุรมุข  หรือเรียกว่าปราสาทยอดปรางค์  ตัวอย่างเช่น  ปราสาทพระเทพบิดร

 

 

- หลังคายอดมงกุฎ  ตัวอย่างเช่น  มณฑปพระพุทธบาทที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

 

 

 

และ หลังคายอดเจดีย์  ตัวอย่างเช่น  ซุ้มเสมารอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  

 

 


 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-04-08 15:46:01.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  แหลมผักเบี้ย

 

 

ทุกก้าวย่างของฉัน ล้วนมีเรื่องราว ต่างที่ ต่างเวลา ต่างความรู้สึก แต่ฉันก็ยังอยากก้าวไป ทิ้งรอยเท้าบนผืนทราย เก็บไว้เพียงความทรงจำ....

 

 

 

วันนี้เราจะมุ่งหน้าไปแหลมผักเบี้ยกันค่ะ    แต่ทำไมต้องแหลมผักเบี้ย TRAVEL CHOICE อีกหนึ่งทางเลือกของการเดินทางมีคำตอบให้คุณค่ะ
ทริปนี้ TRAVEL CHOICE เลือกไปแหลมผักเบี้ยทางเรือคะ  ติดใจจากคราวไปเขายี่สารกับคุณลุงเปลว 

 

แต่ก่อนที่เราจะเริ่มออกเดินทางไปแหลมผักเบี้ย หรือแหลมหลวง  เราเริ่มต้นจากที่นี่กันค่ะธนาคารปู
ที่แหลมผักเบี้ย  มีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมีการทำธนาคารปู โดยการทำกระชังปูม้า ทำจากถังพลาสติก สำหรับใช้เป็นสถานเลี้ยงอนุบาลปูม้า ไว้ห่างจากฝั่งประมาณ 2,000 เมตร เพื่อรับเลี้ยงปูม้าที่มีไขติดอยู่หน้าท้อง ซึ่งชาวประมงในกลุ่มจับมาได้ เพื่ออนุบาล โดยจะใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงไม่เกิน 10 วัน และเมื่อไข่ปูม้าเจริญเติบโตกลายเป็นลูกปูม้าแล้ว ก็จะคืนปูม้าให้แก่สมาชิกที่นำมาให้ เพื่อขายหรือบริโภค

 

ในบางครั้งสมาชิกก็จะไม่ขอรับคืนปูม้า แต่ยกให้กับทางกลุ่ม ซึ่งทางกลุ่มก็จะนำปูม้าที่ได้ไปขายเพื่อนำรายได้มาซื้อปลาทะเล เพื่อเป็นอาหารสำหรับใช้ในการเลี้ยงปูที่อยู่ในกระชัง รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานบริหารกลุ่มต่อไป นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมธนาคารปู ของวิสาหกิจชุมชนแหลมผักเบี้ย ได้ที่ท่าเทียบเรือประมง คลองอีแอด

 

 

ได้เวลาไปชมธรรมชาติ สูดกลิ่นอายทะเล และตามหาทรายเม็ดแรกของอ่าวไทยกันแล้วค่ะ เริ่มกันตรงคลองอีแอดเพื่อไปปลายแหลมผักเบี้ยกันหรือแหลมหลวงกันค่ะ ระยะทางประมาณ  2 กิโลเมตร

 

    

 

ระหว่างทางที่นั่งเรือประมงขนาดเล็กจากปากคลองอีแอดราวครึ่งชั่วโมงนั้น จะเห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนตลอดเส้นทาง 
 

และเห็นวิถีชีวิตของชาวชุมชนที่หลากหลาย มองเห็นชาวบ้านจับหอยแครงเป็นระยะ ใครนึกสนุกจะลงไปร่วมด้วยชาวบ้านเขาก็ยินดีนะค่ะ 
 

ถ้าวันนี้โชคดีจะได้เห็นรอยต่อระหว่างหาดโคลนก้นอ่าวไทยกับหาดทรายและความอุดมสมบูรณ์ของหาดทราย ลองสังเกตดู จะเห็นปลาเล็กปลาน้อย

 

   

 

แหลมผักเบี้ยนี้กลายเป็นแหล่งหากินของนกน้ำหลากชนิดทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพทั้งนกเค้าดิน นกยางกรอกชวา นกหัวโตมลายู นกนางนวล ด้วยคะ

 

แหลมผักเบี้ย น้ำทะเลสวย หาดทรายสะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ อยู่แค่เอื้อมเองค่ะ ว่าแต่ว่า...เรารู้จักผักเบี้ยกันรึเปล่าว่าหน้าตาเป็นยังไง

 

นี่ละคะ “ผักเบี้ย หรือ ผักเบี้ยทะเล”
 

ประโยชน์ของผักเบี้ยทะเล ก็คือ... ทำอาหาร  ที่สำคัญเจ้าผักเบี้ยทะเลมีความสามารถในการกรองน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทะเลค่ะ แถมยังช่วยลดระดับความเค็มในดินได้ด้วย...ไม่ธรรมดาเลยนะเนี่ย...มิน่าล่ะ...ทรายที่นี่ถึงสะอาด...

 

 

หาดทรายแหลมผักเบี้ยแห่งนี้  ถูกชาวบ้านขนานนามให้เป็นจุดชม “ทรายเม็ดแรก” ที่บริสุทธิ์ที่สุดของอ่าวไทย เป็นหาดทรายเนื้อละเอียด เพียงเหยียบลงไปจะรู้สึกถึงความนุ่มเท้าทุกย่างก้าวเลยละคะ

 

 

ตรงปลายแหลมนี้เป็นที่รู้จักกันดีในวงการของนักดูนกค่ะ เหล่านกนานาพันธุ์ต่างออกมาหากินปลาเล็กปลาน้อยบริเวณสันทราย เมื่อรวมกับนกประจำถิ่นอีกนับร้อยชนิด คาดว่าจะมีนกอาศัยหากินอยู่มากกว่า 1 ล้านตัวเลยละค่ะ แต่เมย์ว่าถึงแม้จะไม่มีกล้องถ่ายภาพนก  กล้องส่องนก  แค่เห็นนกก็ตื่นตาตื่นใจแล้วละค่ะ แต่ถ้าใครอยากเก็บภาพเหล่านกนานาพันธุ์ และภาพสวยงามของแหลมผักเบี้ย ก็อย่าลืมพกกล้องถ่ายรูปกันมาด้วยนะค่ะ

 

 

ในจำนวนนี้เป็นนกที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก คือ นกชายเลนปากช้อนและนกทะเลขาเขียวลายจุด รวมทั้งนกน้ำขนาดใหญ่หายากอย่าง นกปากช้อนหน้าดำ ซึ่งมีประชากรเหลืออยู่บนโลกเพียง 970 ตัวเท่านั้น นกใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ พบเห็นได้เป็นประจำในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ซึ่งหาดูได้ไม่ยากในพื้นที่ของตำบลแหลมผักเบี้ยค่ะ 
 

สำหรับทริปนี้เราได้สัมผัสถึงกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนที่ความสำคัญในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างชุมชนวัดเขายี่สาร  เรื่องเล่าของสมเด็จพระเจ้าเสือในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายจากวัดคุ้งตำหนัก  เรื่อยมาจนถึงสมัยธนบุรี ศาลาการเปรียญที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรื้อมาจากอยุธยาเพื่อมาสร้างถวายพระมารดาที่วัดในกลาง

 


เส้นทางของ TRAVEL CHOICE ไม่ได้สิ้นสุดเพียงพระอาทิตย์ตกดินที่นี่ แต่การท่องเที่ยวของเราในวันนี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้อิ่มเอิมกับแสงแดด เสียงคลื่น ละอองน้ำ สูดกลิ่นไอธรรมชาติ น้ำทะเลใส ท้องฟ้าสีสด เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะชาร์ตพลัง กับทางเลือกการท่องเที่ยว ที่เติมเต็ม... ให้คุณ 

อย่าลืมติดตามชม TRAVEL CHOICE อีกหนึ่งทางเลือกของการท่องเที่ยว ที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณ..

 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-04-03 14:17:30.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  นาเกลือ - หาดเจ้าสำราญ

  

 

ตลอดเส้นทางหลวงชนบท สมุทรสงคราม 2021 เส้นทางนี้ เราจะพบกับนาเกลือจำนวนมากที่กองเป็นยอดแหลมสีขาวโพลนวางเรียงซ้อนกันเป็นแถวเลยละคะ การทำนาเกลือถือเป็นอาชีพรองจากอาชีพการทำประมงของชาวบ้าน ที่เพชรบุรีนี่แหละคะเป็นแหล่งผลิตเกลือสมุทรที่สำคัญ และถือว่าเกลือจากเพชรบุรีมีคุณภาพที่สุดจากจำนวนสี่เมืองของไทย

 

 

 

เคยสงสัยเหมือนกันไหมค่ะว่า ทำไม นาเกลือต้องโกยเกลือเป็นรูปสามเหลี่ยมพีระมิด ที่ต้องโกยเกลือขึ้นมาเป็นสามเหลี่ยมพีระมิดแบบนะค่ะ  ก็เพื่อง่ายต่อการคิดค่าแรง หรือ แรงหาบค่ะ  แรงหาบ คือ แรงงานที่รับจ้างหาบเกลือค่ะ หาบได้มากลูกก็ได้ค่าแรงมาก ที่บ้านแหลมแห่งนี้เค้าเรียก กองเกลือเป็นลูกค่ะ  แต่ก็ยังแอบมีข้อสงสัยอีกข้อหนึ่งค่ะว่า ทำไมนาเกลือที่นี่แตกต่างจากนาเกลือที่เคยเห็นมาเพราะมีผ้าใบสีดำปูไว้ ก็ได้ให้คำตอบว่า แค่ราคาก็แตกต่างกันแล้วค่ะ นาเกลือผ้าใบก็จะแตกต่างกว่าครึ่งหนึ่งของราคานาเกลือดิน ความแตกต่างระหว่างนาเกลือผ้าใบกับนาเกลือดิน เรื่องความสะอาดก็แตกต่างกันแล้วค่ะ อย่างเวลาฝนตกนาเกลือดิน เกลือจะดำใช้ไม่ได้ต้องทำใหม่อย่างเดียว แต่นาเกลือผ้าใบก็แค่ปล่อยน้ำออก รอการผันน้ำทะเลเข้ามาใหม่แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ให้น้ำทะเลตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ สามารถทำได้ทั้งปีและให้เม็ดเกลือที่ขาวกว่า ส่วนนาดินพอย่างเข้าเดือนหกแรมค่ำ หรือที่เรียกว่านาปี ก็ทำไม่ได้แล้วเพราะฝนลงค่ะ

ส่วนค่าใช้จ่ายในการทำนาเกลือ นาดินกับนาเกลือผ้าใบ  กระทงนึงราคาอยู่ที่สองแสนบาทค่ะ  นาดินธรรมดาการลงทุนอยู่ที่ห้าพันถึงแปดพันบาท ซึ่งราคาต่างกันเยอะมาก กระทงที่เห็น  ในการทำนาเกลือกระทงนึงใช้เวลายี่สิบวัน ถ้าฝนไม่ตกลงมาซะก่อนนะค่ะ อย่างที่เราเห็นเกลือกองกันอยู่ช่วงบ่ายๆ แบบนี้จะมีแรงงานหาบเกลือมาหาบค่ะ หาบหมดก็ผันน้ำเข้ารอยี่สิบวัน น้ำทะเลตกผลึกเป็นเม็ดเกลือก็เก็บต่อได้เลยค่ะ  ส่วนนาดิน จะใช้เวลา 25 วันในการตกผลึกเป็นเม็ดเกลือค่ะ ซึ่งใช้เวลานานกว่า

สงสัยใช่ไหมค่ะ   ว่ากระทงคืออะไร  กระทงคือพื้นที่ของนาเกลือ ที่คนบ้านแหลม เรียกกันค่ะ

 

 

 

 

จากรายงานของสถาบันเกลือนานาชาติ  พบว่า ประเทศที่ผลิตเกลือรายใหญ่ของโลก คือ สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมัน อินเดีย และ แคนนาดา ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับเกลือมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งในด้านการค้าขายเกลือ และการผลิตเกลือ  ประเทศเหล่านี้จึงเป็นต้นแบบของการผลิตเกลือที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำเกลือด้วยน้ำเค็มทะเลในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ ที่ในสมัย ก่อนคนไทยเราเรียกว่า ประเทศสหปาลีรัฐอเมริกา 

 

   

 

   

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ   เขามีระบบการผลิตด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย  และจัดอยู่ในหมวดสินค้าเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะแก้ไขวิธีทำเกลือของประเทศสยามในขณะนั้น ให้ได้รับผลที่ดีขึ้นกว่าเดิม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ส่งคนไทยไปศึกษาแบบอย่างการทำเกลือถึงประเทศสหปาลีรัฐอเมริกา

 

ถนนสายเกลือเส้นนี้  นอกจากจะเป็นถนนแห่งการเรียนรู้แล้ว ถนนเส้นนี้ยังถือได้ว่าเป็นถนนชมวิว หรือscenicroad ที่สวยงามมากทีเดียวค่ะ  ที่สำคัญถนนเส้นนี้จะนำเราไปสู่สถานที่ที่สำคัญในประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับล้นเกล้ารัชกาลที่ ของพวกเราอีกเช่นกันค่ะ

         

  

 

   

 

 

หาดเจาสำราญนั้นเดิมเรียกว่า "ค่ายหลวงบางทะลุ" เนื่องจากมีรายงานกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ว่า ที่ดินตำบลบางทะลุ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีหาดทรายสะอาด เหมาะที่จะใช้เป็นสถานที่พักฟื้นจากพระอาการประชวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการก่อสร้างพระราชวังแบบเรียบง่ายขึ้น  ในพุทธศักราช2460  แล้วพระราชทานชื่อชายทะเลบริเวณนั้นว่า  หาดเจ้าสำราญ  

 

 

ส่วนพระราชวังนั้นข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไปมักเรียกกันติดปากว่า ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ  เพราะนอกจากจะทรงใช้เป็นที่ประทับแรมเพื่อพระพลานามัยแล้ว ยังใช้สำหรับทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองกำลังเสือป่าจังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย

 

 

และเพื่อให้การเดินทางมายังค่ายหลวงเกิดความสะดวกมากขึ้น ทั้งสำหรับการขนส่งคนและอุปกรณ์ตลอดจนเสบียงต่างๆจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาวรพงศ์พิพัฒน์  เป็นแม่กองจัดสร้างรถไฟรางเล็ก สายเพชรบุรี-บางทะลุ หรือ ที่เรียกว่า  ทางรถไฟเล็กสายหาดเจ้าสำราญขึ้น ในพุทธศักราช 2462 

 

     

 

ประโยชน์ของรถไฟเล็กนี้เพื่อขนผู้โดยสารคือข้าราชบริพาร ตามเสด็จระหว่างตัวเมืองกับค่ายหลวง รถไฟขบวนนี้มี 6 คัน บรรทุกผู้โดยสารได้คันละ 24-30 คน ซึ่งนอกจากจะลำเลียงผู้โดยสารแล้ว ยังต้องใช้ลำเลียงน้ำจืดไปยังค่ายอีกด้วย  แต่การเดินทางมักเกิดปัญหาบ่อยๆ เพราะรถขบวนนี้ใช้ตัวรถจักรไอน้ำของเก่านำมาปรับปรุงใหม่ และรถก็ยังอยู่ในสภาพที่ไม่คอยดีนัก เมื่อแล่นไปได้ไม่เท่าไรตะขอพ่วงจะหลุด และทางที่วางรางรถนั้นก็ไม่ค่อยมีความมั่นคงแข็งแรง  จึงทรงมีพระราชดำริย้ายพระ ราชฐานจากค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญไปอยู่ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

 

    

ปัจจุบันหาดเจ้าสำราญ เป็นเพียงชื่ออนุสรณ์พระตำหนักประทับร้อนหาดเจ้าสำราญเท่านั้น  ส่วนทางรถไฟสายหาดเจ้าสำราญ ก็ถูกแทนที่ด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3177  สายเพชรบุรี-หาดเจ้าสำราญค่ะ

จากเรื่องเล่านาเกลือ...ไปเรื่องทางรถไฟสายหาดเจ้าสำราญ...เรื่องแรกยังคงดำเนินไปตามวิถีของมัน ถีงแม้จะเป็นเพียงมุมมองสำหรับการถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวที่ผ่านมา แต่ถ้าหากได้ลงไปสัมผัสและเรียนรู้ เราจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่มีคุณค่า และได้ต่อยอดในการค้นคว้าเรื่องราวด้วยตัวของมันเอง

ส่วนเรื่องทางรถไฟสายหาดเจ้าสำราญ  ปัจจุบันถึงจะไม่มีร่องรอยหลงเหลืออยู่ แต่ก็กลายเป็นความทรงจำและเรียนรู้ว่า...ครั้งหนึ่ง หาดเจ้าสำราญก็เคยมีเสียงหวูดรถไฟ.... 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-04-03 09:56:50.0     Forum: ศัพทานุกรมศิลปวัฒนธรรมสยาม  >  กุเวณ

 

กุเวณ 


  

 

กุเวณหรือท้าวกุเวณ  เป็นเทพประจำทิศอุดรหรือทิศเหนือตามคติในลัทธิพราหมณ์ เชื่อกันว่าเป็นนายของปีศาจ หรือเป็นเทพผู้นำความมั่งคั่งมาสู่ผู้ที่เคารพบูชาเพราะเป็นพระยายักษ์ผู้เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์  มียักษ์ และคุยหกะ (คุย-หะ-กะ) ยักษ์ผู้เฝ้าขุมทรัพย์เป็นบริวาร  ท้าวกุเวณนั้น บางทีก็เรียกว่า ท้าวเวสสุวรรณ  ในภาษาทมิฬ เรียก กุเวณ ว่า กุเปรัน

 

   

 

กุเวณ หรือ ท้าวเวสสุวรรณนั้น เป็นเทพที่สำคัญองค์หนึ่ง ที่พิทักษ์รักษา พระพุทธศาสนา ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ท่านท้าวสักกะเทวราช หรือ พระอินทร์เลยทีเดียว  เพราะถือว่า กุเวณ เป็นเจ้าแห่งยักษ์และภูติผีปีศาจ   ซึ่งครั้งสมัยพุทธกาล  ยักษ์และภูติผีปีศาจมักจะคอยมารบกวนเวลาพระบวชใหม่หรือพระที่ยังมีญาณที่ไม่แก่กล้า จึงเป็นที่มาของท้าวเวสสุวรรณมอบมนต์ภาณยักษ์ถวายแด่พระพุทธองค์ เพราะยักษ์หรือภูติผีปีศาจจะเกรงกลัวท้าวเวสุวรรณในฐานะเจ้าแห่งยักษ์และผี

 

  

 

ตามวัดวาอารามบางแห่ง จะมีรูปปั้นยักษ์ ตน บ้าง ตนบ้าง ยืนถือกระบองค้ำพื้น ส่วนมากจะมี ตน เฝ้าอยู่หน้าประตูโบสถ์หรือวิหารที่เก็บของมีค่า และสมบัติโบราณของทางวัดบรรจุอยู่ ด้านละ ตน หรือไม่ก็บริเวณลานวัด หรือที่ที่มีคนผ่านไปมาแล้วเห็นโดยง่าย บางแห่งก็สร้างเอาไว้ในวิหารหรือศาลาโดยเฉพาะ ซึ่งยักษ์เหล่านั้น ถ้าเป็น ตนเดียว ก็จะหมายถึง รูปเคารพของท้าวกุเวณหรือท้าวเวสสุวรรณ แต่ถ้าเป็น ตนก็จะเป็นบริวารที่คอยทำหน้าที่ปกปักรักษา ดูแลบริเวณวัด

 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-04-01 14:30:53.0     Forum: ศัพทานุกรมศิลปวัฒนธรรมสยาม  >  ไม้เรียวหวดฟ้า


ไม้เรียวหวดฟ้า



วัด เปรียบเสมือนแหล่งสร้างสรรค์งานศิลปกรรมต่างๆ   เป็นสถานที่ที่ยังคงไว้ซึ่งเรื่องราวแห่งศิลปวัฒนธรรมประเพณีและประวัติศาสตร์ อาจด้วยเพราะสถานที่ที่เรียกว่า วัด นั้น มักถูกสร้างขึ้นด้วยพลังแห่งความเคารพและศรัทธา  เมื่อกาลเวลาผ่านไป วัดจึงเปรียบเสมือนภาพแห่งอดีตที่ยังคงบอกเล่าเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ผ่านทางงานศิลปกรรมที่ยังคงปรากฏอยู่

                              

 

  

 

ไม้เรียวหวดฟ้า เป็นคำที่ช่างใช้เรียก เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมชนิดหนึ่ง  ที่เป็นการนำเอาองค์ประกอบและรูปทรงของเจดีย์ทรงกลมมาปรับเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม ซึ่งมีทั้งแบบย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง สิบหก และยี่สิบ โดยในเวลาต่อมาได้มีการพัฒนารูปทรงเส้นกรอบนอกของโครงรูปให้เรียวและมีปลายแหลม  เรียกรูปทรงอย่างนี้ว่า  ทรงจอมแห หรือ ไม้เรียวหวดฟ้า 

 

 

 

ตัวอย่างเช่น กลุ่มเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมยอดแหลมในบริเวณลานวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

 

 

 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-03-31 16:59:47.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  ชุมชนเขายี่สาร,โรงเรียนวัดเขายี่สาร,วัดคุ้งตำหนัก,วัดในกลาง

  

 

 

วันนี้ Travel Choice ยังคงอยู่ที่หมู่บ้านเขายี่สารกันค่ะ  จากคราวที่แล้ว เมย์ ได้มีโอกาส ไปเรียนรู้การทำถ่านไม้โกงกางที่ถือเป็นอาชีพที่เลี้ยงชาวบ้านเขายี่สารมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เขายี่สาร ได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ของชาวเขายี่สาร ก็ทำให้เมย์ได้รู้ว่าเขายี่สารถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือเชิงวัฒนธรรมเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะได้ทั้งความรู้ ได้สัมผัส และได้เห็นของจริงค่ะ

 

เรายังเดินตามรอยประวัติศาสตร์ไปจนถึงหมูบ้านเขายี่สารค่ะ  ได้เห็นทั้งความเป็นอยู่และพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ยังคงดำรงวิถีชีวิตในชุมชนเขายี่สาร ภูเขาแห่งดียวของสมุทรสงครามแห่งนี้ว่ายังคงเป็นชุมชนที่ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายโดยยึดอาชีพการเผาถ่านและทำบ่อกุ้งเป็นหลัก  นอกจากจะได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวเขายี่สารแล้ววันนี้เราก็ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยือนน้องๆ  โรงเรียนวัดเขายี่สารค่ะ  เมื่อเข้าไปถึงน้อง ๆ ก็สวัสดี ต้อนรับ หน้าตาสดใส น่ารัก มารยาทงามกันทุกคนเลยค่ะ   เมย์ ได้มีโอกาสพบกับคุณครูปาริชาติ นวลิมป์ ค่ะ  ซึ่งเป็นคุณครูประจำโรงเรียนวัดเขายี่สาร ก็ได้พูดคุยและสอบถามคุณครู ถึงผ้าย้อมสีธรรมชาติของเขายี่สารซึ่งเคยเป็นผลิตภัณ์ OTOP ของที่นี่ คุณครูก็ได้ให้ข้อมูลว่า   ความนิยมของผ้าย้อมสีน้อยลง  ตอนนี้ก็เลยไม่ได้ทำกันแล้ว แต่ก็ยังมีการสอนให้กับน้องๆ อยู่บ้างนานๆ ครั้ง

 

 

 

    

 

 

ตอนนี้ทางโรงเรียนจึงหันมาสอนเด็ก ๆ  ทำหุ่นสายกันค่ะ  โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่คุณครูได้ไปอบรมโครงการ ลด ละ เลิก ของ สสส. โดยการเอาหุ่นสายมาเป็นสื่อ  โดยหุ่นแต่ละตัวน้อง ๆ ก็จะเป็นคนคิดการแต่งตัวกันเอง แถมเขียนบท ร้อง เล่น เต้น กันเองอีกด้วยค่ะ โดยการแสดงหุ่นสายดังกล่าว  ก็จะสอดแทรกความรู้เข้าไปในแต่ละเรื่อง ความรู้ ก็จะ  แตกต่างกันไป  อย่างตัวของพยาบาลก็จะเป็นหุ่นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องมะเร็งเต้านม วัยรุ่นจี๊ดจ๊าด ก็เป็นเรื่องของการให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โกงกางจิ๊กกิ๊ว จิ๊กกิ๊ว ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องป่าโกงกาง รวมไปถึงหุ่นอาเซียนค่ะ คุณครูบอกว่ากำลังจะเขียนบทแสดง ถึงชาติอาเซียนเพื่อนบ้านที่จะเปิดขึ้นและรวมตัวกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม ในอีก 2 ปี ข้างหน้า   ว่าแล้ว  เมย์ก็เลยให้น้อง ๆ สอนเล่นหุ่นlสายซะหน่อย  แต่ก็ไม่ง่ายเลยนะค่ะ น้อง ๆ บอกว่าฝึกตั้งกันเป็นเดือนกว่าจะเชิดหุ่นกันได้ เพราะหุ่นแต่ละตัวมีสายทั้งหมด 9 สาย เลยล่ะค่ะ อิริยาบถต่างๆ ของหุ่นก็แล้วแต่เราจะบังคับท่าทาง อย่างที่น้องๆ แสดงให้ดูก็เป็นท่าดีใจ  อาย  สวัสดี  ว่าแล้วเราก็มาขยับยักย้ายกัมนังสไตล์กันหน่อยค่ะ     เต้นซะสาวเวียดนามถึงกับขาอ่อนเลย ยังไงขอพักก่อนนะค่ะ รบกวนเวลาคุณครู ปาริชาติ และ น้องๆ พอสมควร เมย์ก็เลยขออนุญาตออกมาก่อนค่ะ เพราะน้องๆ มีงานแสดงหุ่นสายที่สาธารณสุขจังหวัดกันต่อค่ะ

 

ในยุคที่กรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ โดยมีเมืองเพชรเป็นเมืองท่า ทำให้เพรชบุรีมีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นมากขึ้นวัดก็มีมากขึ้น

 

 

   

 

 

 

วัดคุ้งตำหนัก ต.คุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม เพชรบุรี ที่มีชื่อเกี่ยวกับวังน้ำวนจนหลายคนร่ำลือกัน ว่าเป็นถิ่นฐานของจระเข้ชุกชม เล่ากันว่าในสมัยอยุธยาตอนปลาย บริเวณนี้เคยมีพลับพลาหรือตำหนักพระเจ้าเสือ ซึ่งพระองค์เสด็จฯ มาประทับทรงเบ็ด

 

บางข้อมูลก็บอกว่าภาพที่เห็นเป็นตำหนักพระเจ้าเสือ บางข้อมูลก็ชี้ชัดไปว่าเป็นพระอุโบสถเดิม  จะสังเกตได้จาก  มีช่อฟ้า ใบระกา และ ใบเสมา  แต่ก็ดูทรุดโทรมขาดการดูแลรักษา

 

 

 

 

วัดคุ้งตำหนักนอกจากจะเป็นวัดที่พระเจ้าเสือ เสด็จฯ มาประทับทรงเบ็ด หรือแม้แต่ขึ้นชื่อในเรื่องของวังน้ำวนและจระเข้ชุกชุมแล้วนะค่ะ  ที่วัดนี้ยังถือได้ว่าเป็นวัดที่รวมชาวไทยเชื้อสายมอญที่อพยพเข้ามาตั้งรกราก ในเพชรบุรีอีกด้วยค่ะ ส่วนที่อพยพเข้ามานั้นมีสาเหตุมาจากการทำศึกสงครามที่เกิดการเกณฑ์ผู้คนมาใช้ แรงงานและพัฒนาประเทศ เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ความรักในบ้านที่อยู่ทำให้ ชาวมอญไม่ย้ายถิ่นไปที่ใด       ในเพชรบุรี ชาวไทยเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่เป็นำจนวนมากก็ได้แก่ ชุมชนวัดคุ้งตำหนักแห่งนี้ค่ะ  และรวมไปถึงในเขตบางครก-บางตะบูน อำเภอบ้านแหลม มาถึงชุมชนมอญทั้งทีก็ต้องให้ชาวมอญแท้ๆ สอนภาษามอญกันซะหน่อยค่ะ น้องจาคีหนุ่มน้อยแห่งวัดคุ้งตำหนัก ก็ได้สอนเมย์พูด สวัสดี เป็นภาษามอญค่ะ ซึ่งชาวมอญจะพูด  กันว่า เมียะ เง่อ ระ อาว ส่วนคำว่า สบายดี ก็จะพูดกันว่า มังจิเมย น้องจาคีเรียนอยู่ที่วัดปากคลอง อายุ 8 ขวบแล้วค่ะ เมย์เลยให้น้องลองพูดว่า สวัสดีครับที่นี่วัดคุ้งตำหนักครับ น้องก็พูดได้คล่องไม่มีเขินอายเลยค่ะ ใครที่ไปวัดคุ้งตำหนักมโอกาสได้เจอน้องจาคีก็อย่าลืมทักทายเป็นภาษามอญกันนะค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

Travel Choice ตามร่องรอยประวัติศาสตร์สมัยอยุธยามาจนถึงที่นี่ค่ะ วัดในกลาง เป็นวัดเก่าแก่มีอายุไม่น้อยกว่า250 ปี เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมารดาซึ่งเป็นคนบ้านแหลมค่ะ สถาปัตยกรรมเด่นของวัดในกลางก็คือ ศาลาการเปรียณหลังนี้ค่ะ สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังได้รับการบูรณะโดยถอดชิ้นส่วนเดิมมาซ่อมแซม แล้วประกอบขึ้นมาใหม่ตามแบบเดิม สันนิษฐานว่า แต่เดิมเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนจากอยุธยามาปลูกสร้างที่วัดในกลาง

 

       

 

 

ภาพจิตรกรรมประดับแผงไม้คอสอง ภายในศาลาการเปรียญวัดในกลาง ภาพเหล่าเป็นภาพเขียนพระอดีตของพระพุทธเจ้า  24  พระองค์และพระโพธิสัตว์  ที่จะเป็นพระอนาคตพระพุทธเจ้า  มีทั้งหมด 34 ตอน 

 

 

 

 

ชุดแรกเขียนภาพพระอดีตพระพุทธเจ้า  24  พระองค์  ชุดที่สองเขียนภาพพระโพธิสัตว์ที่จะเป็นพระอนาคตของพระพุทธเจ้า  10  พระองค์ น่าศึกษาและน่าสนใจมากค่ะ 

ทุกเส้นทางที่ Travel Choice ได้เดินทางมีเรื่องเล่าจริงๆค่ะ จากเดิมเราพุ่งเป้าแค่ หมู่บ้านเขายี่สาร แต่แล้วเราก็ได้เรียนรู้เรื่องราววิถีชีวิตวัฒนธรรมที่สวยงามและทรงคุณค่ามากกว่านั้นกับมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงดำเนินวิถีชีวิตอันสงบสันติ 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-03-26 11:01:12.0     Forum: ศัพทานุกรมศิลปวัฒนธรรมสยาม  >  ลายรดน้ำ

 

ลายรดน้ำ


 

งานช่างลายรดน้ำ จัดเป็นงานช่างศิลป์ ประเภทหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในช่างรัก อันเป็นช่างหมู่หนึ่งในบรรดาช่างหลวง หรือช่างประจำราชสำนักซึ่งเรียกกันว่า ช่างสิบหมู่

 

 

 

  

 

ลายรดน้ำ หมายถึง การเขียนลวดลาย หรือรูปภาพให้ปรากฏเป็นลายทอง ด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรด จัดเป็นงานประณีตศิลป์ที่มีความสำคัญมาก  งานเขียนลายรดน้ำนี้  ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับตกแต่งสิ่งของ เครื่องใช้ และเครื่องประดับในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์  เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา ตลอดไปจนถึงของชาวบ้านธรรมดาสามัญ  โดยใช้ตกแต่งตั้งแต่สิ่งของที่มีขนาดเล็กขึ้นไปจนถึงผนังห้องที่มีขนาดใหญ่

 

  

 

 

 

การเขียนลวดลายหรือรูปภาพประเภทลายรดน้ำนี้ คงจะมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏศิลปะโบราณวัตถุที่ตกทอดมา ได้แก่ ตู้พระธรรม  หีบต่างๆ  ไม้ประกับหน้าคัมภีร์   พานแว่นฟ้า   โตก   ตะลุ่ม   ฝา  บานตู้ ฉากลับแล  ฝาผนัง  บานประตูหน้าต่าง เป็นต้น

 

 

งานช่างลายรดน้ำของไทยนั้น นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านศิลปะอันมีลักษณะโดยเฉพาะ และเป็นแบบอย่างของศิลปะไทยมาแต่โบราณแล้ว ยังมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์อีกด้วย




 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-03-24 13:03:58.0     Forum: ศัพทานุกรมศิลปวัฒนธรรมสยาม  >  ตุ๊กตาเสียกบาล

 

ตุ๊กตาเสียกบาล




วิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตนั้น ส่วนใหญ่
มักจะผูกพันอยู่กับความเชื่อตามคตินิยมทางด้านศาสนา และความเชื่อในเรื่องโชคลาง  ซึ่งมักจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของงานศิลปกรรมหัตถกรรมทั้งหลาย  

ตุ๊กตาเสียกบาล เป็นตุ๊กตาที่สร้างขึ้นจากความเชื่อของคนไทย ที่มีความเชื่อว่าทำขึ้นเพื่อปัดเป่าอันตราย  หรือเมื่อมีคนเจ็บป่วยหรือคนคลอดลูกในครัวเรือน โดยนำดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปตุ๊กตาเล็ก ๆ นั่งในท่าพับเพียบ

 

 

ความเชื่อเกี่ยวกับ ตุ๊กตาเสียกบาล นี้ เกิดจากการแพทย์ในสมัยโบราณที่ยังล้าสมัย การทำคลอดต้องอาศัยหมอตำแย ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้กับแม่และลูก จึงเกิดพิธีขับไล่ผีขึ้น ด้วยการทำอุบายหลอกผี  โดยปั้นตุ๊กตาเป็นรูปแม่อุ้มลูกใส่เบาะทำด้วยกาบกล้วย พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ นำไปวางทิ้งไว้ยังทางสามแพร่งเพื่อให้ผีฉงนทาง หรือหลงทาง  ส่วนรูปปั้นที่เคยหักหรือไม่มีหัวนั้น คงจะเป็นการหักออกโดยหมอผี  ซึ่งอาจจะเป็นการแก้บนหรืออุทิศหัวของตุ๊กตาให้ผี แทนที่ผีจะมาเอาชีวิตของแม่และลูก ก็ให้ผีเอาตุ๊กตาไปแทน เพื่อเป็นกลลวงผี

 

 

การทำตุ๊กตาเสียกบาลนี้ยังคงมีทำกันอยู่ตามชนบทในบางท้องถิ่น ที่ยังคงมีความเชื่อถือดังกล่าวอยู่

 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-03-24 11:00:41.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  บ้านเขายี่สาร

  

  

 

วันนี้คุณยังอยู่กับเรา  TRAVEL  CHOICE  อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว  เรายังดื่มด่ำกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม  และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  วันนี้เราจะมาย้อนรอยประวัติศาสตร์  ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชน  เขายี่สาร  อำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงคราม  กันต่อค่ะ  จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน เค้าเล่าให้ฟังว่า เขายี่สาร ถือเป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะเด่น ทางภูมิประเทศ  คือเป็นภูเขาหินปูนขนาดย่อม เพียงแห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม  ส่วนชื่อ”ยี่สาร” แปลว่า ตลาด  เพี้ยนมาจากคำว่า  บาซาร์ ในภาษาเปอร์เซีย  จากการขุดต้นทางโบราณคดี ได้พบโบราณวัตถุ  ที่มีอายุ เก่าแก่ตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา  น่าจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า ชุมชนยี่สารแห่งนี้ คงเป็นชุมชนเก่าแก่  มาตั้งแต่สมัยอยุธยานู้นเลยค่ะ

 

บริเวณเขายี่สารมีเวิ้งน้ำเรียกว่า  “อู่เรือสำเภา” แสดงว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะแก่การพักเรือสำเภา    บ้านเขายี่สารจึงกลายเป็นชุมชนที่เป็นเส้นทางสำคัญ  ในการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาผ่านกรุงเทพฯ ผ่านแม่กลองไปเพชรบุรี  นครศรีธรรมราช  และเป็นเส้นทางค้าขายออกสู่ทะเลไปประเทศต่างๆ เช่น จีน ชวา อินเดีย รวมทั้งยุโรปซึ่งถือเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญมาตั้งแต่โบราณนั่นเอง

 

มีหลักฐานสำคัญที่ชาวต่างชาติได้กล่าวถึงชุมชนยี่สารไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  รัชสมัยของพระเพทราชา  มีชาวต่างชาติชื่อแคมเฟอร์  ได้บันทึกไว้ว่าเวลาเดินทางจากปัตตาเวีย  ซึ่งหมายถึงประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน มายังสยามหรือกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น  ต้องผ่านเมืองกุย  สามร้อยยอด  เมืองปราณ  เพชรบุรี  ผ่านยี่สาร ออกท่าจีนสู่แม่น้ำเจ้าพระยา  ไปยังกรุงศรีอยุธยา  ตรงที่เขียนว่า  Isarn  เนี่ยล่ะค่ะ  คือยี่สารนั่นเอง

 

 

 

 

   

    

 

 

วัดเขายี่สาร  นับเป็นจุดประวัติศาสตร์ที่บอกเรื่องราววิวัฒนาการงานศิลปของไทย  ในแต่ละยุคสมัย ได้อย่างน่าสนใจ  ไม่ว่าจะเป็น

-           ลายจำหลักบานประตูพระอุโบสถพระวิหาร 

-     รอยพระพุทธบาทจำลอง  4  รอย 

-     พระอุโบสถทำด้วยหินทรายแดงสมัยกรุงศรีอยุธยา

 

    

 

ชาวบ้านเขายี่สารต่างหวงแหน และช่วยกันทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ มาจวบจนปัจจุบัน และพร้อมจะบอกเล่าเรื่องราวที่ทรงคุณค่าเหล่านี้แก่ผู้มาเยือนค่ะ

 

 

   

 

อีกเรื่องราวที่ยังสืบทอดจากอดีตจนปัจจุบันของเขายี่สาร คือ  อาชีพที่สืบต่อกันมาเกือบทั้งชุมชน  การทำถ่านไม้โกงกางค่ะ  ซึ่งมีการสร้างเตาเผาขนาดใหญ่เพื่อเผ่าถ่านและปลูกป่าโกงกางหมุนเวียน  เพื่อตัดไม้เผ่าถ่าน และทุกวันนี้การทำถ่านไม้โกงกาง  ก็ยังเป็นอาชีพเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านเขายี่สาร

 

  

 

 

และอีกหนึ่งสถานที่ ที่น่าสนใจไม่แพ้กันและรวบรวมเรื่องราวความเป็นมา  ของเขายี่สารได้เป็นอย่างดี  นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์เขายี่สารแห่งนี้ค่ะ

 

 

 

 

พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ที่เกิดจากการร่วมแรงกันของคนในชุมชน ที่ร่วมกันก่อตั้ง ด้วยความสำนึกในประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวยี่สาร ให้บุคคลทั่วไปและอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาซึ่งพิพิธภัณฑ์เขายี่สาร ตั้งอยู่บริเวณวัดเขายี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ใดสนใจก็สามารถเข้าชมได้ ทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ค่ะ

 

ใครจะรู้ค่ะว่าบนส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินเดียวกัน  ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม ในยุคแห่งโลกเทคโนโลยีจะมีเรื่องราวเรื่องเล่าของวิถีชีวิต  วัฒนธรรม  ของชาวบ้านเขายี่สาร บอกได้คำเดียวค่ะ ว่าสุขใจกับวิถีชีวิตชุมชนที่ดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียง  มีความสุข นิ่ง สงบ  ท่ามกลางความผันผวนของสังคม  ได้อย่างน่าอัศจรรย์  มีโอกาสอย่าลืมแวะมาเยือน เขายี่สาร  สักครั้งแล้วคุณจะพบว่าธรรมชาติแห่งชีวิต  นั่นมีจริง  ใกล้กรุงเทพ ฯ  แค่นี้เองค่ะ 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-03-21 13:57:07.0     Forum: ศัพทานุกรมศิลปวัฒนธรรมสยาม  >  อัฏฐะบริขาร

 

อัฏฐะบริขาร


  

 

การบวช เป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งถือว่าเป็นการทดแทนพระคุณบิดามารดา  และเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของชายไทยที่นับถือศาสนาพุทธทุกคนต้องถือปฏิบัติ   เพราะเมื่อได้บวชแล้ว ต้องรู้จักรักษากฎระเบียบต่างๆในการใช้ชีวิตเยี่ยงพระหรือนักบวช   ต้องเรียนรู้หลักธรรมของพุทธศาสนา   ฝึกการประพฤติตนในทางที่ชอบ และต้องฝึกระงับตนไม่ให้เดินไปในทางที่ผิด ทั้งทางกาย วาจา และใจ

 

  

 

ในการบวชนั้น นาคจะต้องเตรียมผ้าไตร กับเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตสำหรับพระภิกษุ ตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัยเพื่อใช้ในพิธีบวช ซึ่งเรียกว่า เครื่องอัฏฐะบริขาร (อัด-ถะ-บอ-ริ-ขาน) หรือของใช้จำเป็น 8 อย่าง คือ   บาตร  สบง  จีวร  ผ้าพาดบ่า  รัดประคดเอว  หม้อกรองน้ำ  กล่องด้าย-เข็ม    มีดโกน นอกเหนือจากนั้น มีความจำเป็นลดน้อยลง แล้วแต่กำลังของเจ้าภาพจะจัดหามาได้


 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-03-19 10:43:44.0     Forum: ศัพทานุกรมศิลปวัฒนธรรมสยาม  >  กะลาบาฅ

 

กะลาบาต


 

บรรพชนไทยได้สร้างสรรค์มรดกวัฒนธรรมไทยในรูปแบบต่างๆ เป็นจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเป็น ประเพณีราษฎร์ อันเป็นขนบธรรมเนียมที่คนในสังคมโดยทั่วไปถือปฏิบัติแล้ว ยังมี ประเพณีหลวง ซึ่งปฏิบัติกันเฉพาะในราชสำนัก

 

 

ทั้งสองประเพณีมีการถ่ายทอดอิทธิพลแก่กันเป็นเวลาช้านาน โดยประเพณีหลวงได้นำแบบอย่างไปจากประเพณีราษฎร์ แล้วผสมผสานกับวัฒนธรรมหรือลัทธิศาสนาอื่น เช่น ศาสนาพราหมณ์ เพื่อความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ งดงาม และมีระเบียบมากกว่าประเพณีราษฎร์

 

 

กะลาบาต เป็นคำที่ใช้เรียกยามประจำเส้นทางขบวนเสด็จพระราชดำเนิน หน่วยยามนี้เรียกว่า

กองกะลาบาต  มีรั้วราชวัติทึบแบบรั้วตาข่ายกั้นรอบที่ตั้ง มีฉัตรผ้าขาวปักสี่มุมรั้ว ตัวรั้วทาสีขาว

รั้วราชวัติทึบหรือรั้วตาข่ายนี้ เป็นชนิดเดียวกับรั้วราชวัติกั้นพิธีมณฑลในการบวงสรวงเทวดาหรือการวาง

ศิลาฤกษ์ในประเพณีราษฎร์  ที่แผงรั้วจะผูกกล้วยอ้อยติดไว้ เพื่อผู้อยู่ยามใช้เป็นอาหารรับประทาน

กองกะลาบาตนี้จะมีวางเป็นระยะ เพื่อให้ขบวนใช้เป็นที่หมายเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ถูกต้อง

 

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-03-18 14:39:11.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  บางตะบูน - ยี่สาร

  

     

  

วันนี้  Travel  Choice…  อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว  จะเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเส้นทางใหม่  ที่จะมาเติมเต็มความสุขให้ชีวิตคุณกับ  “เขายี่สาร”  ชุมชนโบราณ ในอำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงคราม                                 

 

จริงจริงแล้วการเดินทางสู่ชุมชน  เขายี่สาร  เราสามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง ดังนี้

-         ทางรถยนต์ ใช้ถนนพระราม 2 ทางหลวงหมายเลข 35 ตามเส้นทางไปเพชรบุรี  ประมาณกิโลเมตรที่ 72 จะเห็นปั้มน้ำมัน ปตท.1 เลี้ยวซ้าย ตามป้ายบอกทางเขายี่สาร ตรงเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร

-          รถโดยสาร  สามารถเดินทางโดยรถสองแถว สายแม่กลอง คลองตะบูน มีรถออกตลอดวัน จากตัวตลาดในอำเภอเมืองสมุทรสงคราม

 

 

-          ทางเรือ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ ลงเรือจากฝั่งแม่น้ำบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อล่องเข้าสู่แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยล่องเรือไปตามคลองขุดดอนจั่น  เข้าคลองบางลี่หรือคลองประชาชมชื่น ก็จะออกไปสู่บ้านเขายี่สารได้ค่ะ

-         หรือลงเรือ ชมบรรยากาศปากน้ำแม่กลอง ทางทะเล โดยลงเรือโดยสารที่ท่าเรือวัดหลวงพ่อบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ล่องเรือดูภูมิประเทศสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ออกสู่ปากอ่าวแม่กลอง แล้วล่องเข้าสู่คลองยี่สาร  ชมวิถีชีวิตชาวประมง ป่าชายเลน ตลอดคลองขุดยี่สาร จนเข้าถึงหมู่บ้านเขายี่สารค่ะ

 

 

Travel Choice เลือกที่จะลงเรือจากฝั่งแม่น้ำบางตะบูนไปเขายี่สาร เมื่อเริ่มล่องเรือมาก็ได้พบกับการดำรงชีวิตของชาวบางตะบูน อาชีพของคนแถวนี้คือการทำ ฟาร์มหอยแครง หอยแมลงภู่ ฟาร์มปู ฟาร์มกุ้ง และปลากุเลา มีการลากอวนเก็บหอยแครง ซึ่งการเก็บหอยแครงนั้นจะลากอวนสลับวนไปมาอย่างนี้ โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในการเก็บหอยค่ะ ในขณะล่องเรือ เราก็จะเห็นเสาที่ปักกันไว้เป็นแนว เสาเหล่านั้นคือการกั้นอาณาเขต เพื่อให้รู้ว่าเขตนี้เป็นฟาร์มของใคร ส่วนบ้านกลางทะเลก็คือ กระเตงค่ะ ชาวบ้านใช้เป็นที่พักในการเฝ้าฟาร์มของตัวเองและใช้พักในช่วงเวลากลางคืน เพื่อกันการขโมย กุ้งหอยปูปลา ที่ได้เลี้ยงไว้ พอรุ่งเช้าชาวบ้านก็จะกลับเข้าบ้านพักของตัวเอง ส่วนเวลาน้ำขึ้นน้ำลงในช่วงนี้ น้ำจะขึ้นเวลา ตี 1 และลงเวลา 2 โมงเช้า ของทุกวัน

    

 ที่มาของคำว่ากระเตงนั้นก็มาจาก เมื่อทะเลมีคลื่นและลมแรง กระท่อมที่ปลูกไว้ในลักษณะชั่วคราวก็จะมี อาการโยกเยกชาวทะเลเรียกอาการดังกล่าวว่ากระเตง จึงเป็นที่มาของ กระเตงกลางทะเล สมัยก่อนเสาของกระเตงจะเป็นเสาไม้ แต่สมัยนี้เพื่อความมั่งคงของกระเตง ก็ใช้เสาปูนแทน

  

ล่องเรือไม่นานเราก็จะพบกับ ทุ่นไฟบอกร่องน้ำค่ะ ประโยชน์ของทุ่นไฟก็คือ เพื่อให้เรือแล่นเข้าฝั่งได้อย่างถูกต้องโดยจะมีทุ่นไฟสีแดง ตอนกลางคืนจะมีไฟกะพริบสีแดง หากเรือกำลังแล่นจากทะเลกลับเข้าหาฝั่ง จะต้องแล่นโดยให้ทุ่นไฟแดงอยู่ทางซ้ายมือ นอกจากนี้จะมีทุ่นไฟเขียว และทุ่นไฟเหลือง (หรือไฟขาว) ซึ่งทุ่นไฟเขียวจะอยู่ฝั่งตรงข้ามทุ่นไฟแดง ส่วน ทุ่นไฟเหลืองนั้น จะอยู่ปลายร่องน้ำ และเป็นตัวที่บอกเรือว่าหากแล่นออกจากฝั่งสู่ทะเลแล้ว เมื่อพ้นทุ่นไฟเหลืองไป แสดงว่าเรือได้แล่นพ้นร่องน้ำ สามารถแล่นไปทางไหนก็ได้ เมื่อถึงสามแยกของแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่าทางสามแพร่ง โดยจะแยกออกกันเป็น 3 เส้นทาง ทางซ้ายไปเพชรบุรีขวามือไปยี่สาร อัมพวา และจากเส้นทางที่เรามาไปบางตะบูน โดยเราต้องไปทางขวาของแม่น้ำซึ่งมีชื่อว่า คลองขุด

 

     

 

ที่มาของคำว่า คลองขุด เกิดขึ้นจากการขุดคลองกันเองของชาวบ้านที่สมัยก่อนสามารถก้าวกระโดดจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งได้โดยไม่ต้องใช้เรือ แต่ครั้นกาลเวลาผ่านไป  น้ำเริ่มกัดเซาะฝั่งจึงกลายเป็นคลองที่ใหญ่ขึ้น  เรือลำใหญ่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้  ขณะที่เรากำลังจะเข้าเขตเขายี่สาร  เราก็จะพบกับ การทำโพงพาง ซึ่งเป็นเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่มีมาช้านานแล้ว ลักษณะเป็นเหมือนถุงชงกาแฟในสมัยโบราณ ที่ปากถุงกว้าง ก้นถุงเล็ก ตัวถุงทำจากอวนหรือไนลอนจะใช้กางขวางแม่น้ำหรือลำคลอง                               

 

โดยส่วนใหญ่จะกาง ใน ส่วนของลำน้ำ เพื่อให้เรือสามารถสัญจรไปมาได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ทราบว่า การทำโพงพางในบางตะบูน  ตอนนี้ได้โดนรื้อถอนออกไปหมดแล้ว เนื่องจากได้มีการประกาศว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายการจราจรทางน้ำ กางกั้นขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก และส่งผลให้สัตว์น้ำวัยอ่อนสูญพันธุ์ ซึ่งประกาศดังกล่าวทำให้ผู้ที่ทำอาชีพโพงพางได้รับความเดือดร้อน ในขณะที่ฝั่งยี่สาร ยังยืนยันสิทธิ รักษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่  ของตนในการทำมาหากิน ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน 

 

 

แล้วตอนนี้เราก็ได้เดินทางมาถึง เขายี่สาร อ.อัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามกันแล้วค่ะ  จอดเรือเทียบท่าวัดเขายี่สาร ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของการล่องเรือ  แต่เป็นจุดเริ่มต้น  ของการค้นหา เรื่องราว ทางประวัติศาสาตร์และวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้  ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์และความน่าสนใจ

 

 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-03-17 13:40:56.0     Forum: ศัพทานุกรมศิลปวัฒนธรรมสยาม  >  กลศ

 


กลศ




เมื่อเอ่ยถึงคำว่า กลด หลายๆ คนอาจคิดถึงพระอาทิตย์ทรงกลด  หรือ ร่มใหญ่  ที่มีด้ามยาวใช้สำหรับกางให้เจ้านาย  หรือร่มที่พระภิกษุใช้ในการธุดงค์

คำว่า กลด นี้ ในภาษาไทยยังมีอีกคำหนึ่งที่มี ศ ศาลา เป็นตัวสะกด แต่ออกเสียงพ้องกัน  นั่นคือคำว่า กลศ

 

 

ความหมายของ กลศ คำนี้ หมายถึง ภาชนะสำหรับใส่น้ำมนต์ของพราหมณ์ รูปร่างคล้ายคนโท   มีช่อดอกไม้ห้อยลงทั้งสองข้าง  มักพบเห็นเป็นภาพลายทองหรือลายคำในศิลปะล้านนา  เขียนเป็นรูปหม้อทรงสูงคล้ายแจกัน ประดับไว้ด้วยดอกบัวหลวง เรียงรายอยู่เป็นแถวบนพื้น ที่ทาสีแดง คล้ายข้าวของที่ถวายเป็นพุทธบูชา   ซึ่งชาวล้านนาจะเรียก กลศ นี้ว่าหม้อปูรณฆฏะ (ปู-ระ-นะ-ขะ-ตะ) หรือ หม้อดอก

 

 

 

"ปูรณฆฏะ" หมายถึงหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ตรงตัวตามรากศัพท์ที่ผูกขึ้นจากภาษาสันสกฤตสองคำ คือ คำว่า "ปูรณะ" ที่หมายถึงความบริบูรณ์     และ "ฆฏะ" (ขะ-ตะ) ที่แปลว่าหม้อน้ำ

 


 

คำว่า กลศ นี้ อาจจะเลือนหายไป  เพราะเป็นที่รู้จักกันในนาม "ปูรณฆฏะ หรือ "ลายคำ" รูปหม้อน้ำ 




 userfiles/profile-picture/b6ad8d65-79b3-47a3-bd1d-f63b932ab065/Pic Admin2.jpg

Post : 2014-01-20 15:10:02.0     Forum: เจาะลึกการเดินทาง/Travel in Focus  >  เมืองสิงห์บุรี

 

เมืองสิงห์บุรี


  

 

ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นนะคะ  มีหลักฐานปรากฎในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เมื่อโปรดให้   มีการจัดการปกครองประเทศเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลแล้ว โปรดให้นำเมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี เข้ามาอยู่ในมณฑลกรุงเก่า และต่อมาในพุทธศักราช 2439 โปรดให้ยุบสามเมืองนี้แล้วตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศตะวันตก ที่ตำบล บางพุทรา และพระราชทานนามใหม่ว่า เมืองสิงห์บุรี  หลังจากนั้น จึงเริ่มมีการก่อสร้างอาคารสถานที่ราชการสำคัญๆขึ้นหลายแห่ง

...ทุกวันนี้ ริมฝั่งเจ้าพระยาในตัวเมืองสิงห์บุรี  เราก็ยังคงพบเห็นสถาปัตยกรรมที่เป็นศิลปะแบบโคโลเนียลอยู่  คือมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ทรงยุโรป หรือที่เรียกกันว่า ทรงปั้นหยา  อย่างที่มดกำลังจะพาไปชมตอนนี้ค่ะ


  

 

อาคารทรงยุโรปที่เห็นอยู่นี้คือ ศาลจังหวัดหลังเก่าค่ะ สร้างขึ้นเมื่อรัตนโกสินทร์ศก 129 หรือ พุทธศักราช 2453 ก่อนสร้างศาลากลางจังหวัดหนึ่งปี  ศาลจังหวัดสิงห์บุรีแห่งนี้แต่เดิมเรียกว่า  "ศาลเมืองสิงห์บุรี"  มีฐานะเป็นศาลหัวเมือง    ที่จัดตั้งขึ้นรวมอยู่ในศาลมณฑลกรุงเก่า  ตัวอาคารศาลเป็นผนังก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ลักษณะเป็นอาคารแบบยุโรปซึ่งร่วมสมัยกับสถาปัตยกรรมที่เมืองฉะเชิงเทรา และเมืองปทุมธานี   ด้านหน้าอาคารตอนบนมีหน้ากระจังและมีตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5  และที่บริเวณด้านหน้านอกตัวอาคาร มีพระอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ขนาดเท่าพระองค์จริง  ทรงยืนฉลองพระองค์ครุยเนติบัณฑิตไทย  พระหัตถ์ซ้ายทรงถือตำรา และต่อมาศาลเมืองสิงห์บุรี ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศาลจังหวัดสิงห์บุรีในพุทธศักราช 2459 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขระเบียบการปกครองและจัดแบ่งส่วนราชการใหม่ ให้เปลี่ยน คำว่า "เมือง" เป็น  "จังหวัด" แทนค่ะ


   

 

แต่ปัจจุบัน อาคารหลังนี้ก็ไม่ได้ใช้เป็นที่ทำการแต่อย่างใดแล้วนะคะ  กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะให้อยู่ในสภาพดี   และประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2532 และให้อยู่ในความดูแลของศาลจังหวัดสิงห์บุรีค่ะ

 

  

 

...และเมื่อเดินต่อไปอีกนิดนึง ก็ถึงแล้วค่ะ ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซึ่งสร้างในอีกหนึ่งปีถัดมา หลังจากการสร้างศาลเมืองสิงห์บุรีได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว


  

 

ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรีหลังนี้ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2454 หลังจากสร้างศาลจังหวัดหนึ่งปี เป็นอาคารชั้นเดียว   ก่ออิฐถือปูนแบบตะวันตก ทรงปั้นหยา มีขนาดกว้าง 15 ห้อง มีมุขกลาง หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ พื้นไม้เนื้อแข็ง  ด้านหน้าอาคารตอนบนมีตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกัน  และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในพุทธศักราช 2533  

 

    

 

ปัจจุบัน อาคารหลังนี้อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ และจัดแสดงนิทรรศการสำคัญๆไว้ภายในอาคารค่ะ

 

 

 

  

 

เสน่ห์ของเมืองสิงห์บุรีอีกอย่างหนึ่งที่มดเห็นก็คือ การตั้งชื่อถนนในเมืองเป็นชื่อวีรชนบ้านบางระจัน อย่างเช่นถนนนายแท่น ถนนนายดอก ถนนนายทองเหม็น ถนนนายเมือง หรือถนนพันเรือง ทำให้ผู้คนทั้งหลายทั้งที่อยู่ที่นี่ก็ดี หรือ ผู้คนที่เป็นนักท่องเที่ยวก็ดี เห็นแล้วรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในเหล่าบรรพชนของคนไทยได้ตลอดเวลาเลยล่ะค่ะ


 

จากการเดินทางของ TRAVEL CHOICE ในทริปนี้  คือตามเส้นทางสาย อ่างทอง – สิงห์บุรี  มดบอกว่าจะต้องพาไปชมวัดพระนอนกันถึง 3 วัด และจะต้องเป็นพระนอนที่มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยอีกด้วย จำได้ใช่มั๊ยคะ ทวนความจำกันนิดนึงนะคะ เราไปชมกันมาแล้ว 2 วัด คือ พระนอนวัดป่าโมกวรวิหาร  และพระนอนวัดขุนอินทประมูล ทั้งสองแห่งนี่  อยู่ในจังหวัดอ่างทองค่ะ  ดังนั้นยังเหลืออีกแห่งนึงค่ะ จะเป็นที่ไหนนั้นไปชมกันค่ะ...


  

 

วัดพระนอนแห่งที่สามที่มดได้มานมัสการก็คือ "วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร" ค่ะ ตั้งอยู่ที่บ้านพระนอน ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดราว 4 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี 

 

  

 

พอเข้าไปในวัดก็จะเจอกับต้นสาละต้นใหญ่มาก ออกดอกบานสะพรั่ง สวยงาม ชาวสิงห์บุรีมีความเชื่อว่าหากมีโอกาสได้มานมัสการวัดพระนอนจักรสีห์ แล้วเดินชมต้นสาละลังกาใหญ่ที่ปลูกไว้กว่าหนึ่งร้อยต้นในวัดแล้วอธิษฐาน จากนั้นปรบมือใต้ต้นสาละ ถ้าดอกสาละร่วงลงมา ก็แสดงว่าคำอธิษฐานนั้นจะประสบผลตามที่หวังไว้ค่ะ


  

 

เดินเข้าไปอีกหน่อย เป็นทางเข้าไปพระวิหารเพื่อนมัสการองค์พระนอนจักรสีห์ รู้สึกทึ่งมากเลยค่ะ เพราะองค์ท่าน  เหลืองอร่าม สว่างไปทั่วพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ ปางโปรดอสุรินทราหู หรือแปลความหมายก็คือ เป็นรูปของพระพุทธเจ้าปางไสยาสน์ เทศนาปาฏิหาริย์แก่อสุรินทราหูผู้เป็นยักษ์ เพื่อลดทิฐิของอสุรินทราหูที่ถือว่ามีร่างกายใหญ่โตกว่ามนุษย์ พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตร่างกายให้ใหญ่กว่ายักษ์ 

 

  

 

  

 

องค์พระสร้างด้วยปูนปั้นลงรักปิดทอง มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยที่มีความงดงามมาก ลักษณะของพระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก พระศอกขวายื่นไปด้านหน้า ไม่ทำงอพระกรตั้งขึ้นรับพระเศียรเหมือนพระพุทธไสยาสน์โดยทั่วไป และถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่และยาวมากอีกองค์หนึ่งของประเทศ คือยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว หรือ  47 เมตร 42 เซนติเมตร

 

 

นอกจากนี้ยังมี พระกาฬ และพระแก้ว เป็นพระพุทธรูปศิลาลงรักปิดทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 และเคยเป็นพระประธานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการในสมัยนั้น อย่างไรก็ตามนะคะ ถึงแม้ประวัติการสร้างวัดพระนอนจักรสีห์แห่งนี้ จะไม่มีการบันทึกเป็นเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน นอกจาก มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมา แต่ก็เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสิงห์บุรีมาช้านานทีเดียวค่ะ...

TRAVEL CHOICE   กับเส้นทางอ่างทอง – สิงห์บุรี ได้สิ้นสุดลงที่นี่แล้วนะคะ แต่ก่อนจากกัน เหมือนเช่นเคยค่ะ มดจะทิ้งท้ายไว้ด้วย ภาพสวยๆจากการเดินทางตามเส้นทางสายนี้กันอีกครั้ง

 

  

  

 

  

 

....และอย่าลืมนะคะว่า TRAVEL CHOICE  เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการท่องเที่ยว ที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิตคุณค่ะ

 

 

 

1 | 2 | 3 | 4 | 5 다음 끝